การเสวนา “วิธีการลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว”

การเสวนา “วิธีการลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว”

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ต.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 ต.ค. 2565

| 9,215 view

เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส นายต่อ ศรลัมพ์ กงสุลใหญ่ฯ ได้กล่าวเปิดการเสวนา “วิธีการลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้ร่วมกับ Center for The Pacific Asia Family (CPAF) จัดขึ้น โดยได้มีวิทยากรจาก Asian Pacific Counseling and Treatment Centers (APCTC) และ Legal Aid Foundation of Los Angeles (LAFLA) เข้าร่วมด้วย

Domestic Violence มิได้หมายถึงการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัวอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้น ๆ จะมีนิติสัมพันธ์กันแล้วหรือไม่ก็ตามและอาจเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็ได้ โดยความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นการทำร้ายด้านร่างกายเท่านั้น ยังรวมไปถึงการทำร้ายด้านจิตใจ เช่น การใช้คำพูดที่รุนแรงและการจำกัดอิสรภาพและเสรีภาพในการดำรงชีวิต เป็นต้น

การเสวนาได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวปฏิบัติหากตกเป็นเหยื่อ โดยขอให้รีบติดต่อขอความช่วยเหลือเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ (โทร ๙๑๑) โดยหากท่านมีข้อจำกัดในการสื่อสารภาษาอังกฤษก็สามารถขอล่ามกับเจ้าหน้าที่ได้ โดยให้พูดว่า “I speak Thai” นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานและองค์กรอิสระอื่นๆ ที่ประสานงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เช่น การให้ที่พักอาศัย (CPAF) การให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย (LAFLA) การบำบัดทางด้านจิตใจ (APCTC) การฝึกอบรมวิชาชีพ รวมถึงการขอรับสวัสดิการต่างๆ จากรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมต่อไปได้อย่างปกติต่อไป

นอกจากนั้นกฎหมายสหรัฐฯ จะคุ้มครองเหยื่อของความรุนแรงโดยไม่คำนึงถึงสถานภาพในการพำนักอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ โดยบุคคลเหล่านั้นยังมีสิทธิที่จะขอเปลี่ยนสถานะในการพำนักอยู่ในสหรัฐฯ ตามกฎหมายได้อีกด้วย อาทิเช่น U Visa (Victims of Criminal Activity) T Visa (Victims of Human Trafficking) หรือ VAWA (Violence Against Woman Act) 

หากคุณต้องการความช่วยเหลือ หรือขอคำปรึกษาที่เกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวสามารถติดต่อ

สถานกงสุลใหญ่ฯ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้ที่หมายเลขฉุกเฉิน (๓๒๓) ๕๘๐-๔๒๒๒ รวมถึง CPAF ที่หมายเลขโทรศัพท์ ๑-๘๐๐-๓๓๙-๓๙๔๐ และ APCTC ที่หมายเลขโทรศัพท์ (๘๑๘) ๒๖๗-๑๑๑๕

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ