สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา จัดการสัมมนาหัวข้อ “Thailand and Peru : Partners in Shaping the Future of Food under the Bio-Circular-Green (BCG) Economy Model” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา จัดการสัมมนาหัวข้อ “Thailand and Peru : Partners in Shaping the Future of Food under the Bio-Circular-Green (BCG) Economy Model” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ส.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 ส.ค. 2566

| 4,664 view

เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๖ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา ร่วมกับมหาวิทยาลัย National Agrarian University La Molina (UNALM) ประเทศเปรู ได้จัดสัมมนาในรูปแบบ hybrid หัวข้อ “Thailand and Peru : Partners in Shaping the Future of Food under the Bio-Circular-Green (BCG) Economy Model” เพื่อเป็นการส่งเสริมโอกาสด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตและสินค้าเกษตรกรรมที่มีศักยภาพระหว่างไทยกับเปรู โดยเปรูมีศักยภาพในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทยและการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve

ในโอกาสดังกล่าว นายพิษณุ โสภณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา นาย Javier Prado ผู้อำนวยการด้านเอเชียและโอเชียเนีย กระทรวงการต่างเปรู และนาย Américo Guevara Pérez อธิการบดีของมหาวิทยาลัย UNALM ได้กล่าวเปิดในการสัมมนาครั้งนี้และต่อมา ผู้อภิปรายจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการจากทั้งสองฝ่ายได้ร่วมบรรยายเกี่ยวกับโอกาสด้านการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษรและอาหารแห่งอนาคตอย่างยั่งยืน เช่น การพัฒนาเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เพื่อสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารแบบครบวงจร โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาอุตสาหกรรมซูเปอร์ฟู๊ดซ์ (Superfoods) ของเปรูที่มีโปรตีนสูงและมีคุณค่าทางโภชนาการและการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากความหลากหลายทางชีวภาพที่สูงมากของไทยกับเปรู ควบคู่ไปกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมความยั่งยืน

การสัมมนาฯ ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้เข้าร่วมงานประมาณกว่า ๑,๐๐๐ คน โดยแบ่งเป็นผู้เข้าร่วมงาน ๖๐ คน และผู้เข้าร่วมอีกประมาณ ๑,๐๐๐ คน ผ่านระบบ Zoom และการถ่ายทอดสดใน Facebook จากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการของไทยและเปรู โดยผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ ณ มหาวิทยาลัย UNALM ยังได้มีโอกาสชิมขนมไทย ซึ่งจัดเตรียมโดยสถานเอกอัครราชทูตฯ (กิวิชาเปียกกับมะพร้าวและเผือก) ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างอาหารไทยกับวัตถุดิบของเปรู

การสัมมนาฯ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในเปรูให้แก่ภาคเอกชนไทยในอุตสาหกรรมเกษรและอาหารแห่งอนาคต และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารอนาคตที่ยั่งยืน สร้างสรรค์ และหลากหลาย โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อีกทั้งหน่วยงานและผู้ประกอบการไทย รวมถึง startup ของไทย ได้พบปะกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการของเปรูเพื่อสร้างเครือข่ายที่เป็นประโยชน์

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ