สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ เมืองมุมไบ จัดกิจกรรมสัมมนาโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทย

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ เมืองมุมไบ จัดกิจกรรมสัมมนาโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.พ. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 17 ก.พ. 2566

| 6,125 view

เมื่อวันที่ ๑๘-๑๙ ม.ค. ๒๕๖๖ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา และสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน (BOI) ณ เมืองมุมไบ จัดกิจกรรมสัมมนาโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทยในหัวข้อ “Investment Opportunities in Thailand: Support Measure by Thai Government, and BCG (Bio-Green-Circular) Economy and Healthcare” โดยเป็นความร่วมมือกับหอการค้า Bengal Chamber of Commerce and Industry (BCC&I) และหอการค้าอินเดีย-ไทย (สาขารัฐเบงกอลตะวันตก) และมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า ๗๐ คน

น.ส. อัจฉราพรรณ ยาวะประภาษ กงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา ได้กล่าวเปิดการสัมมนาที่ BCC&I เมื่อวันที่ ๑๙ ม.ค. ๒๕๖๖ ในหัวข้อโมเดลเศรษฐกิจ BCG และบริการเชิงสุขภาพ โดยชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ BOI นำเสนอในครั้งนี้ ได้แก่ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ และเคมีชีวภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต หรือ New S-Curve ที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมากในสภาวะที่ทุกประเทศต้องปรับตัวอยู่ร่วมกับโรคโควิด-๑๙ รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ/หมุนเวียน/สีเขียว ซึ่งประเทศไทยมีข้อได้เปรียบด้านบุคลากรที่มีทักษะสูงในภาคการแพทย์และบริการเชิงสุขภาพ ทรัพยากรชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ และการเข้าถึงตลาดในภูมิภาคอาเซียนได้สะดวก นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการสัมมนายังได้รับเกียรติจากนายชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการ BOI กล่าวต้อนรับ และมีการบรรยายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการแพทย์และ BCG ของไทยโดยนายกัมปนาถ ปรีชาไว เจ้าหน้าที่ BOI ผ่านระบบการประชุมทางไกลจากประเทศไทยอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๑๘ ม.ค. ๒๕๖๖ นายนันทพล สุดบรรทัด ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการลงุทน ณ เมืองมุมไบ ได้บรรยายหัวข้อโอกาสการลงทุนในประเทศไทยและมาตรการสนับสนุนรูปแบบต่าง ๆ ของรัฐบาลไทย รวมถึงการจัดทำวีซ่าประเภทใหม่สำหรับผู้พำนักระยะยาว (Long-Term Resident Visa) ให้กับสมาชิกหอการค้าอินเดีย-ไทย (สาขารัฐเบงกอลตะวันตก) ด้วย

หอการค้า BCC&I เป็นหอการค้าที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดียจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖ (ค.ศ. ๑๘๕๓) มีเครือข่ายที่เข้มแข็งในภาคตะวันออกของอินเดีย รวมทั้งมีความสนใจธุรกิจการแพทย์และบริการเชิงสุขภาพ และพลังงานหมุนเวียนในขณะที่หอการค้าอินเดีย-ไทย (สาขารัฐเบงกอลตะวันตก) หรือชื่อเดิมว่า West Bengal-Thailand Chamber of Commerce and Industry จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๙ โดยกลุ่มนักธุรกิจในรัฐเบงกอลตะวันตกที่มีความสนใจทำธุรกิจกับประเทศไทย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ