สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา ร่วมกับ Qatar Research, Development and Innovation (QRDI) Council จัดสัมมนาและนิทรรศการในหัวข้อ “ห้องปฏิบัติการ ฟาร์ม และขวดพลาสติก: เปลี่ยนขยะให้กลาย เป็นสมบัติ (Labs, Farms, and Bottles: Turning Waste to Treasures)” เผยแพร่นวัตกรรมของไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา ร่วมกับ Qatar Research, Development and Innovation (QRDI) Council จัดสัมมนาและนิทรรศการในหัวข้อ “ห้องปฏิบัติการ ฟาร์ม และขวดพลาสติก: เปลี่ยนขยะให้กลาย เป็นสมบัติ (Labs, Farms, and Bottles: Turning Waste to Treasures)” เผยแพร่นวัตกรรมของไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 ก.ย. 2567

| 266 view

เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๗ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา ร่วมกับ Qatar Research, Development and Innovation (QRDI) Council จัดสัมมนาและนิทรรศการในหัวข้อ “ห้องปฏิบัติการ ฟาร์ม และขวดพลาสติก: เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นสมบัติ (Labs, Farms, and Bottles: Turning Waste to Treasures)” ณ QRDI Council Auditorium เพื่อเผยแพร่นวัตกรรมของไทยในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้ง และย้ำความมุ่งมั่นระหว่างไทยและกาตาร์ในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

งานสัมมนาฯ ได้รับเกียรติจาก Dr. Hisham Saber , Executive Director of the QNRF Programs Office at QRDI Council กล่าวเปิดงานฯ เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (RDI) ระหว่างกาตาร์และไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายและความเร่งด่วนในการพัฒนามิติต่าง ๆ ของทั้งสองประเทศ และนายศิระ สว่างศิลป์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา กล่าวถึงความสำคัญของการสัมมนาในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยและกาตาร์ในด้านการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเฉพาะด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน นวัตกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้ง ความมั่นคงทางอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ สิ่งทอที่ยั่งยืน และการส่งเสริมผู้ประกอบการท้องถิ่น นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ย้ำว่า งานสัมมนาฯ และความร่วมมือระหว่างไทยกับกาตาร์ดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ RDI 2030 และวิสัยทัศน์ Qatar National Vision 2030 รวมถึงนโยบายของรัฐบาลไทย ซึ่งส่งเสริมให้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นหนึ่งในแกนหลักของการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ งานสัมมนาและนิทรรศการฯ ดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมมากกว่า ๕๐ คน ซึ่งมาจากหลายภาคส่วนของกาตาร์ อาทิ กระทรวงการเทศกิจกาตาร์ (Ministry of Municipality) กระทรวงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Ministry of Environment and Climate Change) มูลนิธิ Qatar Foundation หอการค้าและอุตสาหกรรมกาตาร์ (Qatar Chamber of Commerce & Industry) มหาวิทยาลัยกาตาร์ (Qatar University) มหาวิทยาลัย Hamad Bin Khalifa University คณะทูตต่างประเทศในกาตาร์ และสื่อมวลชนท้องถิ่น

ภายในการสัมมนาฯ ประกอบด้วยการนำเสนอหัวข้อสำคัญจากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของมหาวิทยาลัยไทย ได้แก่:

๑. การนำกลับมาใช้ใหม่: แนวทางสร้างสรรค์ของไทยในการจัดการขยะ (Upcycling: Thailand’s Creative Solution to Waste) โดย รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์ประจำภาควิชานวัตกรรมอาคาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้นำเสนอพัฒนาการและนวัตกรรมของไทยในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้ง การนำของวัสดุจากเศษก่อสร้าง/อุตสาหกรรมต่าง ๆ มาพัฒนาและแปลงให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ รศ. ดร. สิงห์ฯ ยังนำเสนอตัวอย่างผลงานและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาและออกแบบที่ยั่งยืนจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นผู้นำของไทยในการออกแบบเชิงนิเวศและโอกาสความร่วมมือระหว่างไทยกับกาตาร์ในด้านดังกล่าว

๒. สิ่งทอยั่งยืน: เปลี่ยนผลิตผลเกษตรส่วนเกินให้เป็นเสื้อผ้า (Sustainable Textiles: Turning Agricultural Surpluses into Clothing) โดย ผศ. ดร. ชนากานต์ เรืองณรงค์ รองคณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งนำเสนอผลงานวิจัยและการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อเปลี่ยนผลิตผลทางการเกษตรที่มีมากเกินไปรวมถึงวัชพืชรุกรานให้กลายเป็นสิ่งทอที่ยั่งยืน เพื่อสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ ผศ. ดร. ชนากานต์ ฯ กล่าวถึงความร่วมมือกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน จังหวัดปทุมธานี ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้กับองค์ความรู้ดั่งเดิมในการถักทอเสื้อผ้าและเส้นใย ทั้งนี้ น.ส. บุญนภา บัวหลวง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน และ น.ส. พิมพ์ชนก บัวหลวง ผู้ช่วยประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน เข้าร่วมร่วมแสดงสินค้าสิ่งทอยั่งยืนต่าง ๆ ด้วย

๓. การใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์เซลลูโลส: ต้นแบบของไทยในการพัฒนาอาหารและการแพทย์ (Utilization of Cellulose-Based Products: Thailand’s Model in Food and Medical Applications) โดย รศ. ดร. ประกิต สุขใย หัวหน้าศูนย์วิจัยพิเศษด้านวัสดุเซลลูโลส มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งนำเสนอวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์เซลลูโลสที่ได้จากเศษเหลือของอุตสาหกรรมเกษตรมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และประยุกต์ใช้ในอาหาร การแพทย์ และการทางเวชสำอาง ตลอดจนโอกาสความร่วมมือในการต่อยอดความร่วมมือที่สอดคล้องกับความต้องการในกาตาร์

นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญข้างต้น จัดนิทรรศการย่อยแสดงผลงานและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้น อาทิ พรมจากขวดพลาสติก PET: แสดงถึงศักยภาพในการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่เป็นสินค้าภายในบ้านที่ทนทาน เครื่องใช้ในครัวเรือนจากเศษวัสดุอุตสาหกรรม: เน้นการนำเศษวัสดุจากอุตสาหกรรมกลับมาใช้ใหม่อย่างสร้างสรรค์ กระเป๋าถือจากเศษวัสดุทางการแพทย์: แสดงถึงการนำวัสดุเหลือใช้จากภาคการแพทย์มาเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์ที่มีสไตล์และมีประโยชน์ และเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ทำจากใยกล้วยและผักตบชวา: นำเสนอสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ

อนึ่ง ระหว่างวันที่ ๒๖ ถึง ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๗ เอกอัครราชทูตฯ ได้นำคณะคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยและผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนไทยเข้าพบหารือกับสถาบันการศึกษาหลายแห่งของกาตาร์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยกาตาร์ (Qatar University) Qatar’s Center for Advanced Materials and Center for Sustainable Development ภายใต้มหาวิทยาลัยกาตาร์ Qatar Research, Development and Innovation (QRDI) Council และ Qatar Environment and Energy Research Institute (QEERI) ภายใต้มหาวิทยาลัย Hamad Bin Khalifa University โดยมุ่งเน้นการขยายความร่วมมือทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะด้านการวิจัยทางการเกษตร การนำขยะและวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ และการประยุกต์ใช้หลักการทางศาสนาอิสลามในการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งนี้ คณะฯ ประกอบด้วย ดร. ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดี ฝ่ายบริหารและความเป็นกลางทางคาร์บอน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์ประจำภาควิชานวัตกรรมอาคาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, รศ. ดร. ประกิต สุขใย หัวหน้าศูนย์วิจัยพิเศษด้านวัสดุเซลลูโลส หาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ผศ. ดร. ชนากานต์ เรืองณรงค์ รองคณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, น.ส. บุญนภา บัวหลวง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน และ น.ส. พิมพ์ชนก บัวหลวง ผู้ช่วยประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา มุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันการศึกษาไทยและกาตาร์ การส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนผลงานวิจัยต่าง ๆ ของไทย ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นรากฐานสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีในมิติต่าง ๆ ทั้งมิติการเมืองความมั่นคง การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

PRESS_RELEASE_-_Seminar_TH_(FINAL)_1.pdf