วันที่นำเข้าข้อมูล 31 มี.ค. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 31 มี.ค. 2566
ระหว่างวันที่ ๑๑ – ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๖ นายนิธิรุจน์ โผนประเสริฐ กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน นำคณะผู้แทนทางการศึกษาอินเดียใต้จำนวน ๒๕ คน จากรัฐทมิฬนาฑู เกรละ และกรณาฏกะ เยือนไทยอย่างเป็นทางการภายใต้โครงการฝึกงาน Global Internship Programme ของ สกญ. ระหว่างวันที่ ๑๑ – ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๖ โดยประกอบด้วยคณะผู้แทนจากสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน และนักศึกษา คณาจารย์ และผู้บริหารจากสถาบันการศึกษาและวิจัยที่มีชื่อเสียงลำดับต้นแห่งเมืองเจนไน เมืองบังคาลอร์ และเมืองโคชิ รัฐอินเดียใต้ ได้แก่ สถาบันฝึกอบรมการศึกษาขั้นสูงแห่งรัฐทมิฬนาฑู (Tamil Nadu Advanced Technical Training Institute: TATTI) และมหาวิทยาลัย Loyola Institute of Technology เมืองเจนไน มหาวิทยาลัย Kristu Jayanti College (KJC) เมืองบังคาลอร์ และศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะ (Centre for Public Policy Research : CPPR) เมืองโคชิ
การเยือนไทยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและวิจัยระหว่างไทยกับอินเดีย โดยมุ่งพัฒนาการด้านการศึกษาและความเป็นเลิศทางวิชาการร่วมกันในสาขาที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของสองประเทศ โดยเฉพาะสาขาการบริหารธุรกิจ การพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกล ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และวิศวกรรมยานยนต์
ในโอกาสการเยือนดังกล่าว คณะนักศึกษาและคณาจารย์สถาบัน TATTI และมหาวิทยาลัย Loyola Institute of Technology ได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมในหลักสูตรทางด้านวิศวรรมกรรมศาสตร์และบริหารธุรกิจ ณ สถาบันบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรุงเทพฯ และศึกษาดูงาน ณ EGAT Learning Center หรือ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลางกรุงเทพฯ และ บริษัทไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ตลอดจนเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ไทย เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะการประกอบวิชาชีพในอนาคต ตลอดจนเรียนรู้ศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ไทย และภายหลังจากสิ้นสุดโครงการฝึกงาน กงสุลใหญ่ฯ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร. นิสัย เฟื่องเวโรจน์สกุล คณบดี มหาวิทยาลัย TGGS เป็นประธานร่วมมอบประกาศนียบัตรแก่คณะผู้สำเร็จการเข้าร่วมโครงการ
นอกจากนี้ กงสุลใหญ่ฯ ได้นำ Dr. Dharmarajan Dhanuraj ประธาน CPPR ซึ่งเป็นคลังสมอง (Think - Tank) ที่มีชื่อเสียงของรัฐเกรละพบหารือกับผู้อำนวยการ พร้อมด้วยผู้บริหารและคณาจารย์ ศูนย์อาเซียนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทั้งสองฝ่ายแนะนำภารกิจหลักของสถาบันตน และเห็นพ้องที่จะริเริ่มความร่วมมือโครงการด้านการศึกษาและวิจัยร่วมกันในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ
การนำคณะผู้แทนทางการศึกษาอินเดียใต้เยือนไทยครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างดีและเป็นรูปธรรมเป็นการยกระดับความร่วมมือทวิภาคีด้านการศึกษาระหว่างไทยและอินเดียให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสถาบัน KJC ที่ได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจ ๒ ฉบับกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและกับมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นความริเริ่มระหว่างสถานกงสุลใหญ่ฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยไทยทั้งสองแห่งเพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือด้านการศึกษากับสถาบัน KJC ในด้านการแลกเปลี่ยนระหว่างนักศึกษาและบุคลากร ด้านการศึกษา การพัฒนาโครงการและหลักสูตรการศึกษา และการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการศึกษาวิจัยร่วมกัน และภายหลังจากพิธีลงนามฯ กงสุลใหญ่ฯ และผู้บริหาร KJC และมหาวิทยาลัยไทยทั้งสองแห่งได้หารือแนวทางการดำเนินกิจกรรมภายใต้บันทึกความเข้าใจเพื่อประโยชน์สูงสุดร่วมกันของไทยและอินเดีย
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **