กิจกรรมเสวนาโต๊ะกลม “Advancing ASEAN-EU Strategic Partnership” เพื่อปูทางสู่การประชุมสุดยอดอาเซียน-อียู ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ ณ กรุงบรัสเซลส์

กิจกรรมเสวนาโต๊ะกลม “Advancing ASEAN-EU Strategic Partnership” เพื่อปูทางสู่การประชุมสุดยอดอาเซียน-อียู ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ ณ กรุงบรัสเซลส์

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ต.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 13 ต.ค. 2565

| 8,325 view

เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ร่วมกับคณะทูตของประเทศสมาชิกอาเซียนประจำกรุงบรัสเซลส์ (ASEAN Brussels Committee – ABC) ได้จัดงานเสวนาโต๊ะกลมภายใต้หัวข้อ “Advancing ASEAN-EU Strategic Partnership” ที่โรงแรม The Hotel Brussels โดยมีเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกอาเซียนสิบประเทศ ผู้แทนระดับสูงของหน่วยงานสหภาพยุโรป (อียู) ตลอดจนผู้แทนจากภาคเอกชนและวิชาการกว่า ๗๐ คนเข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและหารือแนวทางส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับอียู รวมทั้งความร่วมมือในกรอบอินโดแปซิฟิกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโอกาสที่ปีนี้อาเซียนและอียูเฉลิมฉลองครบรอบ ๔๕ ปีความสัมพันธ์ และจะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน-อียูครั้งแรกในกรุงบรัสเซลส์ ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๕

นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตไทย ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับอียูกำลังมีพลวัตสูงและขยายครอบคลุมหลากหลายมิติท่ามกลางบริบทภูมิรัฐศาสตร์โลกปัจจุบัน และได้ยกตัวอย่างบทบาทสำคัญของไทยในการส่งเสริมความสัมพันธ์อาเซียน-อียู เช่น ไทยเป็นผู้ประสานงานหลักของอาเซียนสำหรับกรอบการหารือASEAN-EU Sustainable Development Dialogue และศูนย์ ASEAN Center for Sustainable Development Studies and Dialogue (ACSDSD) ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ประเทศไทยได้ร่วมมือกับอียูในการจัดตั้ง ASEAN Circular Economy Stakeholder Platform เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในอาเซียน

นายนง สากาล (Nong Sakal) เอกอัครราชทูตกัมพูชา ในฐานะประธานคณะทูตอาเซียนประจำกรุงบรัสเซลส์ (ABC) และในฐานะที่กัมพูชาดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี ๒๕๖๕ ได้กล่าวเปิดงานว่า จุดเน้นสำคัญของการเป็นประธานอาเซียนของกัมพูชาคือการส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน รวมทั้งกับมิตรประเทศในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ร่วมกัน ภายใต้ธีม “ASEAN ACT: Addressing Challenges Together” โดยกัมพูชาได้เชิญนายชาร์ล มิเชล ประธานคณะมนตรีสหภาพยุโรป เป็นแขกของประธานอาเซียน กล่าวสุนทรพจน์เรื่องความมั่นคงทางอาหารและพลังงานในการประชุม East Asia Summit ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดียวกับการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กัมพูชา ในเดือนพฤศจิกายนนี้

งานเสวนาโต๊ะกลมฯ แบ่งออกเป็น ๓ ช่วงเพื่อหารือในประเด็นความร่วมมือสำคัญระหว่างอาเซียนกับอียู โดยได้รับเกียรติจากเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นผู้ดำเนินรายการและมีผู้แทนระดับสูงของฝ่ายอียูร่วมเป็นผู้เสวนาหลัก ดังนี้

  • หัวข้อการเติบโตสีเขียวอย่างยั่งยืน (Green and Sustainable Growth)

เอกอัครราชทูตไทยเป็นผู้ดำเนินรายการ ผู้เสวนาหลักประกอบด้วยนาง Myriam Ferran รองปลัดกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศ (DG INTPA) คณะกรรมาธิการยุโรป และนาย Edvardas Bumsteinas ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรป (European Investment Bank)

  • หัวข้อความเชื่อมโยง (Connectivity)

เอกอัครราชทูตมาเลเซียเป็นผู้ดำเนินรายการ ผู้เสวนาหลักประกอบด้วยนาง Barbara Plinkert ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรป (EEAS) และนาย Harvey Rouse หัวหน้าฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทรวงคมนาคม (DG MOVE) คณะกรรมาธิการยุโรปด้านคมนาคม

  • หัวข้อการค้ายั่งยืนและความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน (Sustainable Trade and Supply Chain Resilience)

เอกอัครราชทูตเวียดนามเป็นผู้ดำเนินรายการ ผู้เสวนาหลักประกอบด้วยนาง Dora Correia ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคแอฟริกา แคริบเบียนและแปซิฟิก เอเชีย การค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์สีเขียวของยุโรป กระทรวงการค้า (DG TRADE) คณะกรรมาธิการยุโรป และนาง Outi Slotboom ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์และการวิเคราะห์เศรษฐกิจ กระทรวงตลาดภายในและอุตสาหกรรม (DG GROW) คณะกรรมาธิการยุโรป

คณะทูตอาเซียนและผู้แทนจากฝ่ายอียูได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะกันอย่างกว้างขวาง สรุปสาระสำคัญของการหารือได้ ดังนี้

  • การเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green and Sustainable Growth)

ยุทธศาสตร์ EU Global Gateway ซึ่งประกาศเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๔ มุ่งเพิ่มบทบาทของอียูในการเป็นผู้สนับสนุนเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวผ่านกลไกTeam Europe ที่เป็นการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของอียู รวมทั้งธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรป (European Investment Bank -EIB) ซึ่งเพิ่งเปิดสำนักงานใหม่ที่กรุงจาร์กาตา โดย EIB เคยร่วมสนับสนุนการก่อสร้างรถไฟฟ้าในกรุงฮานอย และสนใจเข้าช่วยขยายระบบขนส่งในกรุงจาการ์ตาความน่าสนใจของ EIB คือเป็นธนาคารที่ให้การสนับสนุนทั้งในเชิงเทคนิคและเงินทุน นอกจากนี้ อาเซียนและอียูได้ร่วมดำเนินความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในหลากหลายโครงการ เช่น โครงการ Smart Green ASEAN Cities โครงการความร่วมมือด้านการอนุรักษ์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ และเศรษฐกิจหมุนเวียน อียูและอาเซียนยังมีแผนที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนระดับโลก และความร่วมมือเรื่องการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition) โดยฝ่ายอียูไม่เพียงสนับสนุนทางการเงินเท่านั้น แต่รวมถึงการสนับสนุนทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่มุ่งช่วยลดผลกระทบของการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่มีต่อบุคคลและอุตสาหกรรมบางกลุ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ช่วยสร้างงานและช่วยสนับสนุนการปรับปรุงกฎระเบียบให้อาเซียนสามารถยกระดับมาตรฐานด้านเศรษฐกิจสีเขียวได้ต่อไป

  • ความเชื่อมโยง (Connectivity)

อาเซียนและอียูประสบความสำเร็จในการเจรจาจัดทำความตกลงเปิดเสรีทางการบิน(ASEAN-EU Comprehensive Air Transport Agreement: CATA) ซึ่งมีกำหนดลงนามในกลางเดือนตุลาคมนี้ โดย CATA ถือเป็นความตกลงทางการบินระหว่างภูมิภาคต่อภูมิภาคฉบับแรกของโลกที่จะช่วยให้มีการขยายตัวของการให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างอาเซียนกับอียู นอกจากนี้ อาเซียนและอียูจะเน้นส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล (Digital Connectivity) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลแก่ประชาชน การพัฒนา smart cities รวมทั้งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในภาคขนส่ง โดยอียูสามารถแบ่งปันประสบการณ์กับอาเซียนเรื่องการเชื่อมโยงระบบรางรถไฟข้ามประเทศ และการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนได้ เป็นต้น   

  • การค้ายั่งยืนและความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน (Sustainable Trade and Supply Chain Resilience)

อาเซียนกับอียูมีการหารือเรื่องการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างสองภูมิภาค (ASEAN-EU FTA) ควบคู่ไปกับการเจรจาจัดทำความตกลง FTA ระหว่างอียูกับแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน (อียูมีความตกลง FTA กับสิงคโปร์และเวียดนามแล้ว และอยู่ระหว่างเจรจาหารือกับประเทศอื่น ๆ รวมทั้งไทย) นอกจากนี้ อียูและอาเซียนยังเริ่มมีการหารือความร่วมมือในประเด็นเฉพาะมากขึ้นที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น เศรษฐกิจสีเขียวและดิจิทัล และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อประเด็นท้าทายเหล่านี้ได้อย่างทันท่วงที โดยในชั้นนี้มีพัฒนาที่น่าสนใจในระดับทวิภาคีว่า อียูกับสิงคโปร์อยู่ระหว่างการหารือเพื่อจัดทำความเป็นหุ้นส่วนทางดิจิทัล (digital partnership) ระหว่างกัน อย่างไรก็ดี ฝ่ายอาเซียนแสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับนโยบายของอียูในการตั้งมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสูงซึ่งเป็นเสมือนอุปสรรคทางการค้า และเน้นย้ำให้คำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals) ที่ครอบคลุมมิติด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย

ผู้เข้าร่วมงานเสวนาโต๊ะกลมต่างเห็นพ้องว่า หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับอียูนับวันจะยิ่งมีความสำคัญขึ้น ภายใต้บริบทภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบันที่ตึงเครียดจากความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ โดยอียูเองก็มีนโยบายที่จะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียมากขึ้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ EU Indo-Pacific Strategy และเล็งเห็นอาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชีย และเห็นพ้องว่าการเสวนาครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการแลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองต่อประเด็นสำคัญในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรปในบริบทปัจจุบัน และสู่อนาคตในวาระ ๔๕ ปีแห่งความสัมพันธ์

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ