วันที่นำเข้าข้อมูล 3 พ.ค. 2566
เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๖ นางวิภาวรรณ เบนนิแมน อัครราชทูต ร่วมกับนายรัฐวุฒิ นันทัยเกื้อกูล ที่ปรีกษา ได้รับมอบหมายจากเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน เป็นผู้แทนให้การต้อนรับและบรรยายสรุปในหัวข้อ “ความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนี และทิศทางในอนาคต” แก่คณะผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (สปท.) นำโดย พลเอก วิชัย ชูเชิด ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ และคณะอาจารย์ นักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ ๖๕ (สายที่ ๘) นำโดยพลเอก ราเมศร์ สันติบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิ กองบัญชาการกองทัพไทย ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ในโอกาสที่คณะมาดูกิจการและศึกษาภูมิประเทศเยอรมนี
อัครราชทูตฯ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีตั้งแต่การรวมชาติเมื่อปี ๒๕๓๒ การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ ๔ ของโลก ระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ตลอดจนการเผชิญกับความท้าทายภายในและระหว่างประเทศ รวมถึงนโยบายต่างประเทศต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก นอกจากนี้ อัคราชทูตฯ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เยอรมนี ซึ่งมีการฉลองครบรอบ ๑๖๐ ปี ความสัมพันธ์ของสองประเทศเมื่อปี ๒๕๖๕ ปัจจุบันเยอรมนียังเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในสหภาพยุโรป และเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย รวมถึงการผลักดันการเยือนระดับสูงระหว่างกัน และโอกาสความร่วมมือทางด้านการลงทุนโดยเฉพาะในสาขายานยนต์ไฟฟ้า และพลังงานสีเขียว จากนั้น อัครราชทูตฯ ได้บรรยายภารกิจงานด้านกงสุลและคุ้มครองดูแลคนไทยในเยอรมนี และการเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนอกราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๖๖ ของสถานเอกอัครราชทูตฯ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก
ในช่วงท้าย ได้เปิดโอกาสให้คณะฯ ได้ซักถามซึ่งให้ความสนใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของเยอรมนี ในด้านการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด แนวทางในการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและการจัดการอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นกว่าร้อยละ ๑๐.๙ เมื่อปี ๒๕๖๕ ตลอดจนท่าทีของเยอรมนีต่อประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และผลกระทบต่อไทย
สอท. ณ กรุงเบอร์ลิน
เม.ย. ๒๕๖๖
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **