เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๗ พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เป็นประธานในกิจกรรมจิตอาสาปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยกระทรวงมหาดไทยได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำพันธุ์ไม้มงคลประจำจังหวัดทั่วประเทศมาปลูกในบริเวณอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ และกระทรวงการต่างประเทศได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำคณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทยมาร่วมปลูกพันธุ์ไม้มงคลประจำจังหวัดต่าง ๆ ณ อุทยานแห่งนี้ด้วย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในมหามงคลสมัยอันพิเศษนี้
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้ ประกอบด้วย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงและคณะผู้บริหารกระทรวงการต่างประเทศ คณะทูตานุทูตที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย ๗๑ ประเทศ ผู้แทนคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือ UNESCAP ปลัดกระทรวงและคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ๗๖ จังหวัด ผู้ว่าราชการ ปลัด และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ปลัดกระทรวงและคณะผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนบริษัทในพระปรมาภิไธย ๑๒ บริษัท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) สมาคมศิษย์เก่าจิตรลดาในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงเรียนจิตรลดา สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และจิตอาสา
ต้นไม้ที่นำมาปลูกในกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้ ประกอบด้วยต้นไม้ประจำจังหวัด ๗๗ จังหวัด และพันธุ์ไม้หายาก โดยแบ่งปลูกเป็นโซนตามภูมิภาคของประเทศ เช่น พะยูง อินทนิลน้ำ กัลปพฤกษ์ มะค่าแต้ ลำดวน รัง ประดู่ป่า หูกวาง พะยอม ศรีตรัง อบเชย จันทน์หอม นนทรี ปาริชาติ สุพรรณิการ์ ตะแบก พิกุล มะเกลือ กาสะลองคำ
อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรตั้งอยู่ในพื้นที่เขตพระราชฐานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เป็นสวนสาธารณะ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมตามแบบอย่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ประชาชนได้เข้าไปศึกษาพระราชกรณียกิจของทั้งสองพระองค์ ผ่านองค์ความรู้เรื่องน้ำและป่า ซึ่งสะท้อนถึงพระราชปณิธานในเรื่องการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนพระอัจฉริยภาพและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในการส่งเสริมความตระหนักรู้ของสังคมในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การปลูกต้นไม้ และการลดมลภาวะต่อโลก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน