การประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ ๕๐ ปี ความสัมพันธ์

การประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ ๕๐ ปี ความสัมพันธ์

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 มี.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 6 มี.ค. 2567

| 4,240 view

ไทยผลักดันการเชื่อมโยงไร้รอยต่อ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว สันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ ๕๐ ปี ความสัมพันธ์

เมื่อวันที่ ๔-๖ มีนาคม ๒๕๖๗ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมคณะผู้แทนไทยนำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ ๕๐ ปี ความสัมพันธ์ ณ นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งมีผู้นำ-ของประเทศสมาชิกอาเซียนและออสเตรเลียเข้าร่วม และติมอร์-เลสเตเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยไม่มีผู้แทนเมียนมาเข้าร่วม 

ในช่วงการประชุมเต็มคณะของผู้นำ ในวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๗ นายกรัฐมนตรีได้ร่วมหารือแนวทางผลักดันความร่วมมือระหว่างอาเซียนและออสเตรเลียให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ โดยไทยได้ผลักดันเรื่องความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อในทุกด้าน โดยเฉพาะการค้าและการลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (โครงการ Landbridge) และการเชื่อมโยงด้านท่าเรือ ความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน และเห็นว่า ข้อริเริ่มที่ออสเตรเลียประกาศ ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์อาเซียน-ออสเตรเลีย (ASEAN-Australia Centre) ทุนการศึกษาออสเตรเลียเพื่ออาเซียน (New Australia for ASEAN Scholarships) มาตรการอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราให้กับนักธุรกิจและกลุ่มบุคคลที่เดินทางเข้าออสเตรเลียเป็นประจำ และการต่ออายุโครงการความร่วมมือในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง โดยเฉพาะโครงการ Mekong Australia Partnership-Economic Resilience Fund และ โครงการ Partnership for Infrastructure ล้วนจะช่วยกระชับความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลียให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ต่อมา นายกรัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อพัฒนาการในภูมิภาค และระหว่างประเทศ ในช่วงการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของผู้นำ โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ร่วมกันของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่มีเสรีภาพ เปิดกว้าง ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกา และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และได้แสดงท่าทีไทยต่อสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อไทยและภูมิภาคโดยรวม ซึ่งรวมถึงข้อริเริ่มของไทยในการยกระดับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของอาเซียนในการดำเนินการตามฉันทามติ ๕ ข้อ ตลอดจนข้อห่วงกังวลต่อวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา โดยเรียกร้องให้ยุติความรุนแรง และปล่อยตัวประกันทั้งหมด ซึ่งรวมถึงคนไทย ตลอดจนเหตุการณ์ที่แรงงานไทยในอิสราเอลได้รับบาดเจ็บจากจรวดต่อต้านรถถังที่ถูกยิงข้ามฝั่ง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ผลักดันวาระสีเขียว ได้แก่ การลงทุนด้านการเปลี่ยนผ่านสีเขียว ซึ่งรวมถึงการแก้ไขปัญหาหมอกควัน PM2.5 การสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีสีเขียว การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสะอาด และเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการพบหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายแอนโทนี แอลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และนายคริสโตเฟอร์ ลักซอน นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ โดยมีการหารือแนวทางผลักดันความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน นวัตกรรม เทคโนโลยีการเกษตร การส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในระดับประชาชนผ่านการศึกษาและการท่องเที่ยว ขณะที่นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการพบหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และดาโต๊ะ เซอรี อันวาร์ บิน อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยไทยได้ผลักดันความร่วมมือด้านการส่งเสริมความเชื่อมโยงในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การค้า การท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ตลอดจนได้หารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือกับ สปป.ลาว ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน

นอกจากนี้ ในช่วงการเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทเอกชนชั้นนำของออสเตรเลีย ๖ ราย ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ได้แก่ (๑) Fortescue บริษัทด้านเหมืองแร่และพลังงานสีเขียว (๒) Linfox บริษัทด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ (๓) Redflow บริษัทด้านระบบกักเก็บพลังงานจากสังกะสีและโบรมีน (๔) ANCA บริษัทด้านการพัฒนา software (๕) NextDC บริษัทด้าน data solutions และ (๖) กองทุน Hesta ซึ่งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยได้เชิญชวนให้บริษัทและกองทุนดังกล่าวเข้ามาลงทุนในไทยในสาขาที่เกี่ยวข้อง ขยายการลงทุนสำหรับบริษัทที่มีการลงทุนในไทยแล้ว ตลอดจนพิจารณาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการลงทุน ซึ่งรวมถึงโครงการ Landbridge

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ