Press Pointers การประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างบังกลาเทศ จีน อินเดีย สปป.ลาว เมียนมา และไทย วันที่ 19 ธันวาคม 2567 ที่กรุงเทพฯ
Press Pointers การประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างบังกลาเทศ จีน อินเดีย สปป.ลาว เมียนมา และไทย วันที่ 19 ธันวาคม 2567 ที่กรุงเทพฯ
วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ธ.ค. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 ธ.ค. 2567
| 1,276 view
Press Pointers
การประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างบังกลาเทศ จีน อินเดีย สปป.ลาว เมียนมา และไทย
วันที่ 19 ธันวาคม 2567 ที่กรุงเทพฯ
* * * * *
- เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่าง 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย เมียนมา สปป.ลาว บังคลาเทศ จีน อินเดีย โดยมีผู้เข้าร่วมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนระดับสูงของทั้ง 6 ประเทศ
- การหารือครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นการหารือครั้งแรกระหว่างเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้านครบทั้ง 5 ประเทศ
- การหารืออย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้เป็นข้อริเริ่มของไทย โดยต่อยอดมาจากข้อริเริ่มของไทยก่อนหน้านี้ กล่าวคือ การหารืออย่างไม่เป็นทางการ 3 ฝ่ายระหว่างไทย อินเดีย เมียนมา ช่วงการประชุม BIMSTEC FM Retreat ที่กรุงนิวเดลี เมื่อเดือนกรกฎาคม และการหารืออย่างไม่เป็นทางการ 4 ฝ่ายระหว่างไทย จีน เมียนมา สปป.ลาว ช่วงการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กรอบความร่วมมือแม่โขง–ล้านช้าง (MLC) ที่เชียงใหม่ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
- การหารือในวันนี้แยกต่างหากจากการหารืออย่างไม่เป็นทางการในกรอบอาเซียนในวันพรุ่งนี้ แต่จะช่วยเสริมความพยายามของอาเซียนในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ ให้มีผลเป็นรูปธรรม
- ผู้เข้าร่วมการหารือครั้งนี้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ ในเรื่องที่เป็นความท้าทายร่วมกัน อาทิ ความมั่นคงชายแดนและการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดและการหลอกลวงออนไลน์ และการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งทุกประเทศต่างเห็นพ้องที่จะยกระดับความร่วมมือให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการประสานงานในการบังคับใช้กฎหมาย
- บรรยากาศการหารือเป็นไปอย่างดีมาก โดยประเทศต่าง ๆ ชื่นชมข้อริเริ่มของไทยในเรื่องนี้ และมีความเห็นสอดคล้องกันถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะดำรงการหารือกันโดยตรงและสม่ำเสมอระหว่างเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในเมียนมาโดยตรง จึงมีความเข้าใจต่อสถานการณ์ในเมียนมามากกว่าประเทศอื่น โดยจะมีการสานต่อการหารือลักษณะนี้ในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป
- นายตาน ส่วย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ได้ให้ข้อมูลแก่ที่ประชุมเกี่ยวกับแผนงานด้านการเมืองของเมียนมาและความคืบหน้าในการเตรียมการจัดการเลือกตั้งในปีหน้า รวมถึงการจัดทำสำมะโนประชากร การจดทะเบียนพรรคการเมือง และความตั้งใจที่จะเชิญผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศ เช่น
จากประเทศเพื่อนบ้าน
- ทุกประเทศเพื่อนบ้านมีผลประโยชน์ร่วมกันที่จะต้องการเห็นประเทศเมียนมามีสันติภาพ เสถียรภาพ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผ่านแนวทางที่ดำเนินการโดยเมียนมาเองและเมียนมาเป็นเจ้าของ (Myanmar-led and Myanmar-owned) และต้องการให้ฝ่ายต่าง ๆ ในเมียนมายุติการใช้ความรุนแรงและหันหน้ามาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกโดยสันติโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศเมียนมาได้แจ้งว่า รัฐบาลเมียนมาเปิดประตูสำหรับการพูดคุยเพื่อหาทางออกโดยกระบวนการทางการเมือง
- นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือทวิภาคีกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา โดยหารือประเด็นทวิภาคีที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ ประเด็นลูกเรือประมงไทย 4 คน ที่ถูกจับกุมโดยทางการเมียนมา และได้หารือกับทั้งเมียนมาและอินเดียถึงความสำคัญของเส้นทางการค้าสายเอเชีย หรือ Asian Highway-1 เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนและความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเอเชียใต้อีกด้วย
- นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้หารือทวิภาคีกับผู้แทนประเทศอื่น ๆ ที่เข้าร่วมทุกประเทศ ขณะที่ประเทศเหล่านี้ก็ได้หารือทวิภาคีกันเองด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์ของการจัดการหารือในวันนี้และบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในฐานะสะพานเชื่อมระหว่างประเทศต่าง ๆ
* * * * *