ผลการเยือนญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๖ - ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕

ผลการเยือนญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๖ - ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 31 พ.ค. 2565

| 4,590 view

เมื่อวันที่ ๒๖ - ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมการประชุม International Conference on the Future of Asia หรือ Nikkei Forum ครั้งที่ ๒๗ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งผู้บริหารของกระทรวงการต่างประเทศและสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมคณะด้วย สรุปสาระสำคัญของผลการเยือน ดังนี้

๑. การเข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum ครั้งที่ ๒๗ (เมื่อวันที่ ๒๖ พ.ค. ๒๕๖๕)
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวปาฐกถาภายใต้หัวข้อหลักของการประชุมฯ ได้แก่ การทบทวนบทบาทของเอเชียในโลกที่แบ่งฝ่าย โดยได้ย้ำว่า ภายใต้สถานการณ์ความท้าทายและความชะงักงันในภูมิภาคและในโลก เอเชียควรจะต้องยืดหยุ่นต่อการปรับตัว สนับสนุนความยั่งยืน รวมทั้งสร้างสังคมที่ครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้ การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลของทุกสรรพสิ่งและการก้าวไปสู่ความยั่งยืน โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอประเด็นที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียจะสามารถร่วมมือกันได้เพื่อก้าวข้ามความท้าทายที่เผชิญในในปัจจุบัน ได้แก่ (๑) การกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (๒) การสนับสนุนระบบพหุภาคีต่อไป เนื่องจากไม่มีประเทศใดที่สามารถรับมือและจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ ได้เพียงลำพัง และ (๓) การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจะต้องเกิดควบคู่กับความยั่งยืน ซึ่งแนวคิด BCG ของไทยจะมีส่วนช่วยส่งเสริมแนวทางนี้ได้ ทั้งนี้ สามารถสืบค้นปาฐกถาฉบับสมบูรณ์ได้ ตามเอกสารแนบ

๒. การหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (เมื่อ ๒๖ พ.ค. ๒๕๖๕)
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำข้อเสนอของไทยในการยกระดับความสัมพันธ์ไทย - ญี่ปุ่น เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership)” เพื่อสะท้อนพัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่ใกล้ชิดและรอบด้านในช่วงที่ผ่านมา และประเด็นที่จะร่วมมือกันต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องที่จะประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในระยะ ๕ ปี เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งอนาคตร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่บริษัทเอกชนญี่ปุ่นหลายแห่งมีความสนใจและเริ่มเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตของไทย เช่น ในสาขายานยนต์ไฟฟ้า (EV) และเคมีภัณฑ์ สาขาเศรษฐกิจ BCG การแพทย์ ดิจิทัล และเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงการเข้าร่วมดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน EEC เช่น ท่าอากาศยานอู่ตะเภา และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง ๓ สนามบิน ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อสร้างสังคมที่ปลอดคาร์บอนภายใต้ข้อริเริ่ม Asia Zero-Emissions Community ของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

ในด้านความร่วมมือในระดับประชาชน นายกรัฐมนตรียินดีที่ฝ่ายญี่ปุ่นพร้อมที่จะพิจารณาข้อเสนอโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยในการขยายจำนวนสถาบันไทยโคเซ็น และการจัดตั้ง KOSEN Education Center ในไทยเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่เลือกไทยเป็น ๑ ใน ๔ ประเทศเป้าหมายที่จะทดลองเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กเดินทางเข้าญี่ปุ่น เพิ่มเติมจากกลุ่มนักธุรกิจ นักศึกษา และแรงงานทักษะจากไทย โดยนายกรัฐมนตรียังได้กล่าวเชิญชวนให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยด้วย

ในด้านความร่วมมือในกรอบภูมิภาคและพหุภาคี นายกรัฐมนตรีได้แจ้งมติของอาเซียนที่จะให้ไทยเป็นที่ตั้งสำนักเลขาธิการของศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) และสำนักงานด้านการตอบสนอง ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้แสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว รวมทั้งสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปีนี้ นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือภายใต้กรอบ Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) สถานการณ์ในเมียนมา และสถานการณ์ในยูเครน โดยย้ำความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนของทั้งสองประเทศดังกล่าว

 

๓. การพบหารือกับภาคเอกชนและสถาบันทางการเงินที่สำคัญของญี่ปุ่น (เมื่อ ๒๗ พ.ค. ๒๕๖๕)

นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับนายโทคุระ มาซาคาสึ ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) และนายซูซูกิ โยชิฮิสะ ประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น ของเคดันเรน โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ผ่านความร่วมมือด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้เกิดการลงทุนจากญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มและรองรับต่อสถานการณ์ในอนาคต โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้ฝ่ายญี่ปุ่นเพิ่มการลงทุนเพื่อขยายห่วงโซ่อุปทานเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านของไทย ซึ่งประธานเคดันเรนกล่าวย้ำความสำคัญของไทยที่เป็นหนึ่งในฐานการผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่นในอาเซียน โดยเคดันเรนมีแผนที่จะนำสมาชิกของคณะกรรมการด้านการค้าและเศรษฐกิจญี่ปุ่น - ไทยของเคนดันเรนกว่า ๗๐ บริษัท เยือนไทยในห้วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เพื่อพบหารือกับภาคเอกชนไทย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับนายมาเอดะ ทาดาชิ ผู้ว่าการ JBIC โดยได้ขอรับการสนับสนุนจาก JBIC ในโครงการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง ๓ สนามบินกับ EEC เพื่อเป็นตัวอย่างความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จระหว่างฝ่ายไทย จีนแลญี่ปุ่น และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับไทยในฐานะศูนย์กลางการลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียน ซึ่งผู้ว่าการ JBIC ยินดีให้การสนับสนุน

 

๔. การศึกษาดูงานที่ Haneda Innovation City (เมื่อ ๒๗ พ.ค. ๒๕๖๕)

นายกรัฐมนตรีได้ศึกษาดูงานที่ Haneda Innovation City เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการโครงการเมืองอัจฉริยะตามนโยบายแห่งชาติของญี่ปุ่น โดย Haneda Innovation City เป็นแหล่งรวบรวมศูนย์วิจัยและการทดลองเทคโนโลยีล้ำสมัยด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ เทคโนโลยีหุ่นยนต์อัจฉริยะ เทคโนโลยีทางการแพทย์ สถานีไฮโรเจน และแหล่งรวมของร้านค้า โรงแรม สำนักงาน และศูนย์จัดการประชุมที่มีความทันสมัยและลงตัว

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

Nikkei_Speech_Fin_(Thai).pdf