คำกล่าวนายกรัฐมนตรี ในกิจกรรม Sustainable Development Goals (SDG Moment) ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๖

คำกล่าวนายกรัฐมนตรี ในกิจกรรม Sustainable Development Goals (SDG Moment) ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ก.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 19,085 view

คำกล่าวนายกรัฐมนตรี
ในกิจกรรม Sustainable Development Goals (SDG Moment)
ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๖ วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๔

ท่านเลขาธิการสหประชาชาติ
ท่านประธานสมัชชาสหประชาชาติ
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

 

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญและมีบทบาทในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งภายในและระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม SDG Moment ในวันนี้ โดยเฉพาะภายหลังการนำเสนอรายงานวีเอ็นอาร์  ต่อสหประชาชาติเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะเป็นโอกาสให้ไทยได้ทบทวนความคืบหน้าของการดำเนินการตาม SDGs แล้ว ยังทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของเป้าหมายดังกล่าวต่อการฟื้นฟูและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคต่าง ๆ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-๑๙ ที่มีแนวโน้มจะคงอยู่กับโลกของเราไปอีกระยะหนึ่ง

ในประเทศไทย รัฐบาลได้ร่วมกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นระบบ โดยมีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง ตลอดจนมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อให้การดำเนินนโยบายและการใช้งบประมาณในทุกระดับตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและนำไปสู่การบรรลุ SDGs อย่างแท้จริง นอกจากนั้น ไทยยังมีคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งผมดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการด้วยตนเอง เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศ ตลอดจนมีการจัดทำ SDGs Roadmap เพื่อเป็นแผนที่นำทางไปสู่การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ อีกด้วย

สำหรับทศวรรษแห่งการเร่งรัดการดำเนินการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นั้น ประเทศไทยมีหมุดหมายที่สำคัญ ๓ ประการ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs ดังนี้

ประการแรก การส่งเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนทุกช่วงอายุ ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ได้ตอกย้ำความสำคัญของการมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมและทั่วถึง ขณะเดียวกัน การจัดสรรงบประมาณสำหรับการประกันสุขภาพอย่างเพียงพอและการยกระดับอุตสาหกรรมทางการแพทย์และการบริการสาธารณสุขก็เป็นประเด็นที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถพึ่งพาตนเองในยามวิกฤตได้

ประการที่สอง การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในช่วงการฟื้นฟูจากวิกฤตโควิด-๑๙ จะเน้นการสร้าง “ความสมดุลของสรรพสิ่ง” ผ่านการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เช่น การเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร การต่อยอดอุตสาหกรรมชีวภาพและพลังงานทดแทน รวมถึงการปรับโครงสร้างการท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นต้น นอกจากนั้น รัฐบาลยังมุ่งมั่นที่จะปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตขนาดใหญ่ของโลก โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มการผลิตรถไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้ได้ร้อยละ ๓๐ ของการผลิตยานยนต์ไทยทั้งหมดภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ เพื่อให้สอดรับกับพันธกรณีของไทยด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ รวมถึงการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประการที่สาม การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ สะท้อนให้เห็นความเปราะบางในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้และการสร้างรายได้ ดังนั้น การขจัดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาด้าน digital literacy จึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการปลดล็อคศักยภาพให้แก่ประชาชนในประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะใช้ประโยชน์จากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือ TPMAP (ทีพีแม็ป) ที่เกิดจาก Big Data เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายนี้ รวมถึงปัญหาความยากจนอื่น ๆ ต่อไป

การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยการดำเนินการของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่จะต้องเกิดจากการปรับกระบวนทัศน์และการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงภาคเอกชนและภาคประชาชนด้วย ดังนั้น นอกจากการดำเนินการตามหมุดหมายที่ได้กล่าวมาแล้ว รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญกับการระดมทรัพยากรเพื่อการพัฒนา ทั้งในรูปของการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน การกำหนดสิทธิพิเศษเพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนในโครงการขับเคลื่อน SDGs และการสนับสนุน MSMEs เพื่อนำไปสู่การขยายฐานการขับเคลื่อน SDGs ในทุกระดับอย่างแท้จริง

สุดท้ายนี้ ผมขอยืนยันเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่จะก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพร้อมร่วมมือกับนานาประเทศ เพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

ขอบคุณและสวัสดีครับ