นายกรัฐมนตรีหารือกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในการหารือทางโทรศัพท์กับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

นายกรัฐมนตรีหารือกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในการหารือทางโทรศัพท์กับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 เม.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 17,626 view

นายกรัฐมนตรีหารือทางโทรศัพท์กับนายซูกะ โยชิฮิเดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยกล่าวยินดีกับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และเชิญนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนไทยในโอกาสแรก ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงด้วย

เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๐๐ - ๑๕.๓๐ น. (ตามเวลาประเทศไทย) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้หารือทางโทรศัพท์กับนายซูกะ โยชิฮิเดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียินดีกับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และเชิญนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนไทยในโอกาสแรก พร้อมย้ำความสำคัญที่รัฐบาลไทยให้แก่การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ควบคู่กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแสดงความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการสนับสนุนความช่วยเหลือที่เกี่ยวกับโรคโควิด-๑๙ เช่น ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ ห่วงโซ่ความเย็น (cold chain) เพื่อเก็บรักษาวัคซีนมูลค่า ๑๘๐ ล้านบาท

ทั้งสองฝ่ายยืนยันกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยเห็นพ้องว่าการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย - ญี่ปุ่น (High-Level Joint Commission - HLJC) ครั้งที่ ๕ เป็นกลไกสำคัญ และยืนยันที่จะร่วมมือกันในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะภายใต้กรอบความร่วมมือญี่ปุ่น - ลุ่มน้ำโขง และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy - ACMECS) นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอรับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio -Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของไทย และการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และส่งเสริมการลงทุนในโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

ในประเด็นภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา สถานการณ์ในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ และสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี รวมทั้งเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในกรอบอาเซียน - ญี่ปุ่น ซึ่งฝ่ายไทยจะทำหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานในช่วง ๓ ปีข้างหน้า และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปี ค.ศ. ๒๐๒๒ ตามลำดับ ขณะเดียวกันญี่ปุ่นได้ยืนยันการสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership - CPTPP) ด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ