นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๗ หารือการฟื้นตัวจากโควิด-๑๙ เน้นย้ำความสำคัญของการค้าการลงทุน

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๗ หารือการฟื้นตัวจากโควิด-๑๙ เน้นย้ำความสำคัญของการค้าการลงทุน

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 พ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 8,945 view

นายกรัฐมนตรีร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค หารือการฟื้นตัวจากโควิด-๑๙ เน้นย้ำความสำคัญของการค้าและการลงทุน และเสนอแนะประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ คือ ความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อในทุกมิติ การเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน และการสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
 
เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๗ ซึ่งมาเลเซียจัดขึ้นผ่านระบบการประชุมทางไกล

ที่ประชุมหารือ ๒ ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การร่วมมือในระยะสั้นเพื่อควบคุมและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-๑๙ และการร่วมมือในระยะยาวเพื่อวางกรอบการดำเนินงานของเอเปคในระยะ ๒๐ ปีข้างหน้า หลังจากที่เป้าหมายโบกอร์ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานของเอเปคตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ กำลังจะสิ้นสุดลงในปีนี้

ในเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-๑๙ ผู้นำเอเปคได้ย้ำความสำคัญของการยึดมั่นต่อกฎระเบียบทางการค้าภายใต้ WTO ไม่ออกมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า และอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายของสินค้าจำเป็น เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนในช่วงโควิด-๑๙ และเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจมีข้อมูลที่ครบถ้วนและทันสมัย เพื่อประโยชน์ในการปรับแผนธุรกิจอย่างทันท่วงที ผู้นำได้เห็นชอบตามข้อเสนอของมาเลเซียในการเปิดตัว COVID-19 LIVE (Latest and Immediate Virtual Exchange) (https://www.apec.org/COVID-19) ซึ่งเป็นเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลด้านนโยบายและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในภูมิภาคเอเปค นอกจากนี้ ผู้นำยังได้หารือเรื่องความร่วมมือเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกชาติ สามารถเข้าถึงวัคซีนต้านโควิด-๑๙ ที่ปลอดภัย มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และมีราคาที่เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน  

ในส่วนความร่วมมือในระยะยาว ผู้นำเอเปคได้รับรอง “วิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ. ๒๐๔๐” ซึ่งจะมาแทนที่เป้าหมายโบกอร์ในการกำหนดทิศทางความร่วมมือของเอเปคต่อไปในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า โดยเอกสารดังกล่าวสะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้นำเอเปคที่จะสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลวัต พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและมีสันติภาพ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๔๐ เพื่อความรุ่งเรืองของประชาชนทุกคนและคนรุ่นหลัง โดยผลักดันและขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใน ๓ มิติ คือ (๑) การค้าและการลงทุน (๒) นวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล และ (๓) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุม โดยผู้นำเน้นย้ำว่า ประชาชนทุกคนในภูมิภาคจะต้องสามารถเข้าถึงประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมจากการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน ตลอดจนการรวมตัวทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง มีสุขภาวะ บนพื้นฐานของสังคมที่ยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำความสำคัญของการค้าและการลงทุนซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของภูมิภาค และเสนอแนะ ๓ ประเด็นที่เอเปคควรให้ความสำคัญ ได้แก่ (๑) ความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านดิจิทัล (๒) การเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้รับประโยชน์ที่จับต้องได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และ (๓) การสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (disruptions)

การประชุมผู้นำเอเปคครั้งนี้ จัดขึ้นในสภาวการณ์ที่สมาชิกเอเปคต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ จนทำให้ผู้นำต้องพบกันในรูปแบบการประชุมทางไกลเป็นครั้งแรก แต่ก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยผู้นำเอเปคสามารถรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมที่สำคัญได้ถึง ๒ ฉบับ ได้แก่ วิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ. ๒๐๔๐ และ ปฏิญญาผู้นำกัวลาลัมเปอร์ ๒๐๒๐ ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้เป็นครั้งแรกในรอบ ๓ ปี หลังจากที่ไม่สามารถมีฉันทามติในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่ปาปัวนิวกีนี เมื่อปี ๒๕๖๑ และชิลีต้องยกเลิกการประชุมไปสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบภายในเมื่อปี ๒๕๖๒

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ