เลขาธิการสหประชาชาติย้ำในการประชุมวิชาการนานาชาติประจำปีรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลให้ประชาคมโลกเร่งฉีดวัคซีนให้ทุกคน ทุกพื้นที่ เพื่อยุติโควิด-๑๙

เลขาธิการสหประชาชาติย้ำในการประชุมวิชาการนานาชาติประจำปีรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลให้ประชาคมโลกเร่งฉีดวัคซีนให้ทุกคน ทุกพื้นที่ เพื่อยุติโควิด-๑๙

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ม.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 2,192 view

นาย António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ส่งข้อความสำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติประจำปีรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๕ (Prince Mahidol Award Conference 2022 – PMAC 2022) โดยการประสานของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ซึ่งจัดในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ ภายใต้หัวข้อ “โลกที่ปรารถนา: ขับเคลื่อนสู่สังคมแห่งสุขภาวะเป็นธรรมและยั่งยืน (THE WORLD WE WANT: Actions Towards a Sustainable, Fairer and Healthier Society)”

ในการประชุมฯ นาง Gita Sabharwal ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้อ่านข้อความของเลขาธิการสหประชาชาติ โดยเน้นว่า เพื่อมุ่งสู่โลกที่ทุกคนปรารถนา เราจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับทุกคนในทุกพื้นที่เพื่อยุติโรคระบาด ส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนามนุษย์ ปฏิรูประบบการเงินโลก โดยประเทศที่ร่ำรวยต้องให้การสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา ป้องกันและยุติความขัดแย้ง ผ่านการเจรจาหารือและดำเนินการตามคำมั่นอย่างจริงจังต่อสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

กิจกรรมสำคัญในช่วงการประชุมหลักประกอบด้วย พิธีเปิด โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานเปิดการประชุม และการประชุมเต็มคณะ (Plenary Session) โดยมีการแลกเปลี่ยนความเห็นในวาระด้านสุขภาพที่สำคัญต่าง ๆ จากวิทยากรที่มีชื่อเสียงและประสบการณ์ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ทั้งหมด ๕๖ คน อาทิ นาย Ban Ki-moon อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ดร. Gro Harlem Brundtland อดีตนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ นาง Helen Clark อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ นาง Michelle Bachelet Jeria ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และ ดร. Margaret Chan อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก

การประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลจัดขึ้นเป็นประจําทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพที่สําคัญในระดับโลก และในแต่ละปี มีหน่วยงานต่างประเทศให้ความสนใจร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทั้งจากองค์การระหว่างประเทศ มูลนิธิเพื่อการกุศล สถาบันการศึกษาและวิชาการทั่วโลก กว่า ๒๐ หน่วยงาน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ