วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ม.ค. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ม.ค. 2566
ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
สำหรับการประชุม Voice of the Global South Summit
วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๓๐ – ๑๓.๐๐ น. (ตามเวลาประเทศไทย)
ในหัวข้อ “การบรรลุโลกาภิวัตน์ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง”
ท่านนายกรัฐมนตรีนเรนทร โมที (นะ-เรน-ทะ-ระ โม-ที)
ท่านประธานาธิบดี ท่านนายกรัฐมนตรี
และผู้มีเกียรติทุกท่าน
๑. ผมขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีโมทีสำหรับคำเชิญเข้าร่วมการประชุม Voice of the South Summit และผมขอชื่นชมความเป็นผู้นำของท่านที่ผลักดันให้วาระด้านการพัฒนาเป็นประเด็นสำคัญของการหารือในวันนี้
๒. หัวข้อของการประชุมวันนี้ “การพัฒนาที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง” ได้จัดขึ้นในเวลาที่เหมาะสมกับบริบทในปัจจุบัน ที่ประชาชนของเราต้องประสบกับโรคระบาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ วิกฤตด้านอาหารและพลังงาน จนก่อให้เกิด “วิกฤตค่าครองชีพครั้งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ ๒๑” ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชาชนกลุ่มเปราะบาง
๓. เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องร่วมกันร่วมแรงร่วมใจกันให้มากขึ้นกว่าเดิม ในโอกาสนี้ ผมจึงขอนำเสนอ ๓ แนวคิด เพื่อให้อินเดียในฐานะประธาน G20 เป็นกระบอกเสียงให้กับประเทศกำลังพัฒนาในการกำหนดระบบธรรมาภิบาลโลกและผลักดันระบบเศรษฐกิจโลกไปสู่ “ยุคโลกาภิวัตน์ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง” มีความยั่งยืน และครอบคลุมยิ่งขึ้น ดังนี้
๔. ประการแรก เราจำเป็นต้องแสวงหาแนวทางการพัฒนาแบบองค์รวมที่ช่วยให้สามารถรับมือกับวิกฤตโลก ๓ ประการ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลภาวะเพื่อผลักดันให้การเติบโตหลังวิกฤตโควิด-๑๙ มุ่งสู่ความสมดุลมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ
๕. เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ และ ๒๐ เขตเศรษฐกิจจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้ร่วมกันรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งบูรณาการการพัฒนาทางเศรษฐกิจทั้ง ๓ แนวทางไปสู่ “ความสมดุลของสรรพสิ่ง” โดยทั้งแนวคิดพื้นฐาน BCG ของไทยและแนวคิด “วิถีชิวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ของอินเดียล้วนมีเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมการใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล ตลอดจนการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้นและยึดหลักธรรมาภิบาล
๖.นอกจากนี้ ไทยขอเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาได้ร่วมกันสานต่อผลสำเร็จจากการประชุม COP 27 ซึ่งถือว่าเป็นการประชุม COP ที่ประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทนำ ผมขอย้ำความจำเป็นในการระดมทุนเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการลงทุนเพื่อพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำในราคาที่เหมาะสม
๗. ประการที่สอง ไทยเล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการร่วมมือกันที่จะผลักดันให้กระบวนทัศน์ด้านการพัฒนามุ่งไปสู่ที่การยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ผมขอยืนยันว่าไทยจะสนับสนุนการระดมทุนเพื่อรองรับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม สร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนและขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
๘. ด้วยบริบทที่กล่าวมาแล้วนั้น ไทยชื่นชมบทบาทนำของอินเดียในเรื่องดังกล่าวและพร้อมแบ่งปันแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศและวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ กับอินเดียและหุ้นส่วนอื่น ๆ ผ่านกรอบความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคีเกี่ยวกับการเสริมสร้างศักยภาพการวิจัยทางการแพทย์ และความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นในการเตรียมการรับมือกับโรคระบาดอุบัติใหม่บนพื้นฐานของแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว
๙. ประการสุดท้าย เราควรเสริมสร้างความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนและวิกฤตต่าง ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะวิกฤตด้านอาหาร พลังงาน และปุ๋ยในปัจจุบันเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้ตระหนักอยู่เสมอว่าความผันผวนในราคาตลาดได้ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนหลายล้านครัวเรือนและทุนมนุษย์ในประเทศกำลังพัฒนา
๑๐. ดังนั้น ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องยกระดับความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานและการจัดการภาวะวิกฤต ในขณะเดียวกัน G20 ควรพัฒนากลไกระดับโลกที่จะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงอาหาร พลังงาน และปุ๋ยในราคาที่เหมาะสม เพื่อรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ ในระยะยาว นอกจากนี้ ไทยในฐานะประธานบิมสเทคปี ๒๕๖๖ ยินดีที่จะร่วมมือกับอินเดียเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเดินเรือ พลังงาน และดิจิทัล ในภูมิภาคอ่าวเบงกอลให้มากยิ่งขึ้น
๑๑. ไทยพร้อมจะกระชับความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากับอินเดียในฐานะประธาน G20 ในการรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศกำลังพัฒนาอย่างครอบคลุม เพื่อจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างยั่งยืนและเข้มแข็งสำหรับอนุชนคนรุ่นหลังต่อไป
๑๒. สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณและขออวยพรให้ทุกท่านโชคดีครับ สวัสดีครับ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **