นายกรัฐมนตรีเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรีเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างเป็นทางการ

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ต.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 ต.ค. 2566

| 9,448 view

เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๖ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) อย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว

การเยือนครั้งนี้สะท้อนความสัมพันธ์พิเศษระหว่างไทยกับ สปป. ลาว ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมผูกพันกันดั่งเครือญาติที่ใกล้ชิด รวมทั้งสะท้อนความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เข้าเยี่ยมคารวะนายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ สปป. ลาว และเลขาธิการใหญ่คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และได้พบหารือกับนายไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติ สปป. ลาว

ทั้งสองฝ่ายได้ย้ำความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีในทุกมิติ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงกันอย่างสม่ำเสมอ และจะกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน

ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการค้าทวิภาคีที่ ๑๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ๒๕๖๘ ผ่านมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกทางการค้า ขยายเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs และกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างจังหวัดและแขวงชายแดนของสองประเทศ

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเร่งรัดให้เริ่มก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ (หนองคาย – เวียงจันทน์) โดยเร็วที่สุดภายในปี ๒๕๖๙ เพื่อรองรับการเติบโตของการขนส่งข้ามแดนทางรางระหว่างไทย-ลาว-จีน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีของสองประเทศได้เป็นประธานพิธีเปิดสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จโดยเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย – สปป. ลาว ผ่านสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) และจะทำให้สามารถขยายการบริการเดินรถไฟไทย - ลาว ไปถึงสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) โดยทั้งสองฝ่ายจะเร่งรัดให้สามารถเริ่มเดินรถไฟได้ภายในต้นปี ๒๕๖๗ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชายแดน

ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ ๕ (บึงกาฬ - บอลิคำไซ) ซึ่งปัจจุบัน คืบหน้าไปแล้วเกือบร้อยละ ๙๐ และจะก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถเปิดใช้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายพร้อมจะเดินหน้าโครงการอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศและในภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ได้แก่ การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย -ลาว แห่งที่ ๖ (อุบลราชธานี - สาละวัน) และการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข ๑๒ (R12) จากชายแดนไทย - ลาวที่จุดผ่านแดนนครพนม - ท่าแขก ไปจนถึงชายแดนลาว – เวียดนามที่จุดผ่านแดนนาเพ้า - จาลอ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและการค้าได้เพิ่มมากขึ้น

ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันเพิ่มประสิทธิภาพในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งทางรางและทางถนน เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างสองประเทศและในภูมิภาค และจะเร่งรัดการจัดตั้งพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Area: CCA) เพื่อลดขั้นตอนและพิธีการศุลกากรในการขนส่งสินค้าข้ามแดนบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ ๒ (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) ซึ่งเป็นอีกเส้นทางสำคัญในการคมนาคมขนส่งระหว่างไทย – ลาว – เวียดนาม ด้วย

ด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายจะเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวข้ามแดน และจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกัน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ในโอกาสปีแห่งการท่องเที่ยวลาว ในปี ๒๕๖๗

หน่วยงานความมั่นคงของสองประเทศจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการดูแลความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดนและป้องกันและปราบปรามอาชญกรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะยาเสพติดและแก๊งคอลเซนเตอร์ โดยจะมีการลงนามความตกลงด้านความมั่นคงชายแดนฉบับใหม่ระหว่างสองประเทศภายในสิ้นปีนี้

ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นในประเด็นหมอกควันข้ามแดน โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมสามฝ่ายตามยุทธศาสตร์ฟ้าใสระหว่างไทย สปป. ลาว และเมียนมา ให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ และฝ่ายไทยจะสนับสนุน สปป. ลาว ในการจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงไฟป่าและการเพิ่มขีดความสามารถในด้านการป้องกันไฟป่าและลดการเผา

ฝ่ายลาวแสดงความขอบคุณฝ่ายไทยที่ได้ให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในหลากหลายสาขา ซึ่งมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและส่งเสริมมิตรภาพระหว่างประชาชนสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ผู้นำสองฝ่ายได้ใช้โอกาสนี้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเกี่ยวกับสถานการณ์ในระดับระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคที่มีความสนใจและข้อห่วงกังวลร่วมกัน โดยฝ่ายไทยมีความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ประธานอาเซียนของ สปป.ลาว ในปี ๒๕๖๗ และพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ รวมทั้งจะร่วมมือกันในการส่งเสริมเอกภาพและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน ซึ่งมีความสำคัญต่อการรักษาสันติภาพและการพัฒนาของภูมิภาคท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูง

ภายหลังการหารือ นายกรัฐมนตรีสองฝ่ายได้เป็นประธานในพิธีส่งมอบโครงการและเป็นสักขีพยานในการลงนามเอกสารต่าง ๆ ได้แก่ 


(๑) การส่งมอบศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในแขวงอัตตะปือ 


(๒) การส่งมอบสวนรุกขชาติมิตรภาพเพื่อฉลองครบรอบ ๗๐ ปี ความสัมพันธ์ไทย-สปป. ลาว

(๓) การลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างรัฐมนตรีด้านวัฒนธรรมไทย - สปป. ลาว


(๔) การลงนาม Record of Discussion ระหว่าง สพพ. กับการรถไฟลาวเพื่อให้ความช่วยเหลือการขับรถไฟ การออกตั๋ว และการพัฒนาธุรกิจรถไฟสำหรับการรถไฟลาว

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ