การเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๗

การเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๗

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 มี.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 มี.ค. 2567

| 6,525 view

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๗ ในฐานะแขกของรัฐบาลเยอรมนี โดยมีนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมคณะด้วย การเยือนในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเยอรมนีที่ใกล้ชิด ยาวนาน และมีพลวัตมากกว่า ๑๖๐ ปี และเป็นการต่อยอดการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายเยอรมนีได้แสดงความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง และศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทย อันเป็นปัจจัยสำคัญของภาคเอกชนในการทำธุรกิจ

เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๗ นายกรัฐมนตรีได้พบหารือทวิภาคีกับนายโอลาฟ ชอล์ซ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต่อแนวทางร่วมกัน (Joint Roadmap) ในการยกระดับความสัมพันธ์สู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยจะมีการหารือในรายละเอียดผ่านกลไกทวิภาคี ได้แก่ การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมด้านเศรษฐกิจไทย - เยอรมนี (Joint Economic Committee: JEC) และการประชุมหารือทางการเมือง (Political Consultations: PC) ไทย - เยอรมนี ทั้งนี้ ความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายสนใจที่จะเพิ่มพูนผลเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่ การส่งเสริมความร่วมมือระดับการเมืองและการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง การเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ พลังงานสะอาดและการเปลี่ยนผ่านสีเขียว แบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านยานยนต์ไฟฟ้า การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรยั่งยืน การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและการสร้างความเชื่อมโยงผ่านโครงการ Landbridge ของไทย ด้านแรงงานและการส่งเสริม การอาชีวศึกษา การผลักดันความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการสนับสนุนต่อการเจรจาเพื่อยกเว้นการตรวจลงตราเชงเกนสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาไทย ตลอดจนความร่วมมือระดับภูมิภาครวมทั้งความร่วมมือในกรอบอาเซียนและในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และการรับมือกับประเด็นท้าทายระหว่างประเทศ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประเด็นความมั่นคงระหว่างประเทศ

ในช่วงเช้าวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๗ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวปาฐกถาหลักในงานเลี้ยงรับรองประจำปีของสมาคมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเยอรมนี (German Association for Small and Medium-Sized Businesses: BVMW) ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “Future Day for SMEs” เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับทิศทาง อนาคต และการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ด้านนโยบายเศรษฐกิจ “Ignite Thailand” ที่ตอบโจทย์ความท้าทายในปัจจุบัน โดยเฉพาะประเด็นปัญหาโลกร้อนและภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนเยอรมนีเพื่อเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนกับไทยให้มากยิ่งขึ้น พร้อมเชิญชวนให้สมาคมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเยอรมนี (BVMW) พิจารณาเปิดสำนักงานผู้แทนในประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเยอรมนีในประเทศไทยและในภูมิภาค

นายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสการเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการในการพบหารือในรูปแบบ one-on-one กับภาคเอกชนเยอรมนีชั้นนำ เพื่อเชิญชวนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ได้แก่ (๑) สาขาอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้แก่ Volkswagen (ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ที่สุดในเยอรมนี) BMW และ Mercedes Benz (๒) สาขาชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมหนัก ได้แก่ Schaeffler (๓) สาขาชิ้นส่วนยานยนต์ ได้แก่ Fritz Draexlmaier และ Mahle และ (๔) สาขาเซมิคอนดักเตอร์ ได้แก่ Infineon

การเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ถือเป็นการเยือนประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประเทศแรก ๆ ของนายกรัฐมนตรี สะท้อนให้เห็นถึงพลวัตความสัมพันธ์และโอกาสสำหรับไทยและเยอรมนีที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือกันในอีกหลายสาขาบนพื้นฐานของค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งส่งเสริมขีดความสามารถของไทยผ่านความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับประเทศหุ้นส่วนที่สำคัญ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ