นายกรัฐมนตรีย้ำความร่วมมือในการกระจายวัคซีนโควิด-๑๙ การเติบโตสีเขียว และการพัฒนาด้านดิจิทัล พร้อมสนับสนุนการสร้างภูมิรัฐศาสตร์ที่สันติและเอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูหลังโควิด-๑๙ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ ๙

นายกรัฐมนตรีย้ำความร่วมมือในการกระจายวัคซีนโควิด-๑๙ การเติบโตสีเขียว และการพัฒนาด้านดิจิทัล พร้อมสนับสนุนการสร้างภูมิรัฐศาสตร์ที่สันติและเอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูหลังโควิด-๑๙ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ ๙

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ต.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,464 view

เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ ๙ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าร่วมการประชุมฯ ซึ่งเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ในมิติต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ โดยสหรัฐฯ ย้ำความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการกระจายวัคซีนต้านโควิด-๑๙ ในภูมิภาค โดยได้มอบวัคซีนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนแล้วกว่า ๔๐ ล้านโดส และให้ความช่วยเหลือคิดเป็นมูลค่ากว่า ๒๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ประชุมฯ ยังได้เน้นย้ำการส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ สาธารณสุข การค้าการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจสีเขียว การพัฒนาด้านดิจิทัล การพัฒนาทุนมนุษย์ การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางไซเบอร์ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยสหรัฐฯ ยืนยันสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน และมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก รวมทั้งแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับอาเซียนในการเสริมสร้างภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ในโอกาสนี้ ที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์ผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ ว่าด้วยการพัฒนาด้านดิจิทัล (ASAEN-U.S. Leaders’ Statement on Digital Development)

นายกรัฐมนตรีย้ำการส่งเสริมความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจและผลประโยชน์ร่วมกัน โดยยินดีที่สหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะแสดงบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในภูมิภาค นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางความร่วมมือใน ๓ ประเด็น ได้แก่ (๑) การกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยไทยพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ ทั้งด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีน และการกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค (๒) การส่งเสริมการเติบโตสีเขียว โดยส่งเสริมการลงทุนและการสร้างงานในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งร่วมกันขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในวาระที่ไทยเป็นประธานเอเปคในปี ๒๕๖๕ และต่อเนื่องไปในช่วงการเป็นประธานของสหรัฐฯ ในปี ๒๕๖๖ และ (๓) การส่งเสริมการพัฒนาด้านดิจิทัล ซึ่งไทยมุ่งผลักดันโครงการ “ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์” ภายใต้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อให้เป็นศูนย์กลางความร่วมมือของเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์และการสร้างดิจิทัลสตาร์ทอัพในภูมิภาค นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สนับสนุนการทำงานร่วมกันของมหาอำนาจเพื่อสร้างภูมิรัฐศาสตร์ที่มีสันติสุขและเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวหลังโควิด-๑๙ ด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ