คณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee) มีมติให้ขึ้นทะเบียนแหล่งภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี เป็นมรดกโลก

คณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee) มีมติให้ขึ้นทะเบียนแหล่งภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี เป็นมรดกโลก

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ก.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 ส.ค. 2567

| 2,334 view

ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee) สมัยสามัญ ครั้งที่ ๔๖ ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย มีมติให้ขึ้นทะเบียนแหล่งภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี เป็นมรดกโลก ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ค.ศ. ๑๙๗๒ (1972 Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage หรืออนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO)

ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี เป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโกลำดับที่ ๘ ของไทย ก่อนหน้านี้ ไทยมีมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว ๗ แหล่ง ได้แก่ (๑) เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (๒) นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร (๓) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง (๔) แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (๕) ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (๖) กลุ่มป่าแก่งกระจาน และ (๗) เมืองโบราณศรีเทพ

แหล่งภูพระบาทประกอบด้วยอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทและแหล่งวัฒนธรรมสีมาที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมาในยุคทวารวดี ซึ่งมีอายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 8 และยังคงสภาพความเป็นแหล่งใบเสมาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งนี้ แหล่งภูพระบาทตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี การขึ้นทะเบียนครั้งนี้จึงทำให้จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดเดียวของประเทศไทยที่เป็นที่ตั้งของแหล่งมรดกโลกถึงสองแหล่งนอกจากการขึ้นทะเบียนแหล่งดังกล่าวของไทยเป็นมรดกโลกแล้ว ที่ประชุมคณะกรรมการดังกล่าวยังมีมติบรรจุ สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของแหล่งมรดกโลกอีกด้วย

การขึ้นทะเบียนมรดกโลกในครั้งนี้ไม่เพียงสำคัญต่อไทยเท่านั้น แต่เป็นประโยชน์ต่ออนุชนรุ่นหลัง โดยจะนำมาซึ่งความร่วมมือในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และคุ้มครองจากทุกระดับ ตลอดจนการมีส่วนร่วมในทางวิชาการเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ