นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตสีเขียวและเป้าหมายโลกปี ๒๐๓๐ (P4G) ครั้งที่ ๒ หารือการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ เพื่อการเจริญเติบโตที่สมดุลและยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตสีเขียวและเป้าหมายโลกปี ๒๐๓๐ (P4G) ครั้งที่ ๒ หารือการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ เพื่อการเจริญเติบโตที่สมดุลและยั่งยืน

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 มิ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 14,235 view

นายกรัฐมนตรีผลักดันโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวและการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างสมดุลยั่งยืนและการฟื้นฟูสีเขียวในการประชุมระดับผู้นำกรอบหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตสีเขียว และเป้าหมายโลกปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ครั้งที่ ๒ ผ่านระบบทางไกล จัดโดยเกาหลีใต้

เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำกรอบหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตสีเขียวจากเป้าหมายโลกปี ค.ศ. ๒๐๓๐ (Partnering for Green Growth and Global Goals 2030: P4G) ครั้งที่ ๒ ผ่านระบบวีดิทัศน์แบบถ่ายทอดสด ในฐานะแขกของนายมุน แช-อิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพื่อการเจริญเติบโตที่สมดุลและยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมย้ำให้ทุกประเทศดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี ๒๕๗๓ (ค.ศ. ๒๐๓๐)

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “การฟื้นฟูสีเขียวอย่างครอบคลุมเพื่อนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Inclusive Green Recovery towards Carbon Neutrality) โดยที่ประชุมได้หารือใน ๓ ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การฟื้นฟูสีเขียวจากโควิด-๑๙ ความพยายามของประชาคมระหว่างประเทศเพื่อนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ๒๕๙๓ (ค.ศ. ๒๐๕๐) การเสริมสร้างหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนเพื่อดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์ย้ำความสำคัญใน ๔ ประเด็น ได้แก่ (๑) การฟื้นฟูจากวิกฤตโควิด-๑๙ ที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตที่สมดุลและยั่งยืน และสอดคล้องกับการบรรลุ SDGs (๒) การนำเสนอหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy Model) เป็นวิถีทางไปสู่การเติบโตที่สมดุลและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนด้วยการขับเคลื่อนผ่านกลไกจตุภาคี ซึ่งประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน (๓) การส่งเสริมความร่วมมือและการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยอยู่ระหว่างยกร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกำหนดมาตรฐานราคาของคาร์บอนเครดิตที่เป็นธรรม รวมถึงตั้งเป้าปลูกต้นไม้ยืนต้นร้อยล้านต้น และ (๔) การส่งเสริมความร่วมมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ต่างๆ และเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการเติบโตสีเขียว รวมทั้งในช่วงการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี ๒๕๖๕

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยผู้นำประเทศและกลุ่มประเทศรวม ๔๗ ประเทศ รวมถึงองค์การระหว่างประเทศรวม ๒๑ แห่ง ได้ร่วมกันรับรองปฏิญญากรุงโซล (Seoul Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมที่แสดงเจตนารมณ์ของผู้นำที่เข้าร่วมการประชุม P4G ครั้งที่ ๒ เพื่อย้ำว่า (๑) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ได้สร้างบทเรียนสำคัญต่อการรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และสร้างความท้าทายทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน (๒) ยินดีต่อความมุ่งมั่นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามที่ได้ประกาศในการประชุมระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ผ่านมา และหวังที่จะสานต่อความมุ่งมั่นดังกล่าวในประชุมระหว่างประเทศ รวมถึงการประชุม COP26 (๓) ตระหนักถึงความสำคัญของการฟื้นฟูสีเขียวเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ และส่งเสริมการรับมือกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม (๔) ย้ำเจตนารมณ์ในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วน ๕ ด้าน ได้แก่ น้ำสะอาด พลังงานสะอาด อาหารและเกษตรกรรม เมืองสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน และ (๕) ยืนยันเจตนารมณ์ในการส่งเสริมการฟื้นฟูสีเขียวและการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐและภาคเอกชน การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศกำลังพัฒนา การส่งเสริมบทบาทของรัฐบาลท้องถิ่น และความสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจและประชาสังคม

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

คำกล่าว_นรม._P4G.pdf