ไทยร่วมการประชุม OSCE Asian Conference ประจำปี ๒๕๖๖ มุ่งส่งเสริมเอเชีย-ยุโรปทำงานร่วมกันเพื่อความมั่นคงของประชาชน

ไทยร่วมการประชุม OSCE Asian Conference ประจำปี ๒๕๖๖ มุ่งส่งเสริมเอเชีย-ยุโรปทำงานร่วมกันเพื่อความมั่นคงของประชาชน

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 ก.ค. 2566

| 5,698 view

เมื่อวันที่ ๑๗ – ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๖ นางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา ได้เข้าร่วมการประชุมประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือฝ่ายเอเชียขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE Asian Partners for Co-operation Group Conference) ณ กรุงเวียนนา ออสเตรีย ภายใต้หัวข้อ “เอเชียและยุโรป: แนวทางการรับมือความท้าทายร่วมกันท่ามกลางสถานการณ์ความมั่นคงโลกที่เปลี่ยนแปลงไปผ่านความร่วมมือพหุภาคี” (“Europe and Asia: Addressing common challenges in a changing global security environment through multilateral co-operation”) โดยมีผู้เข้าร่วมจากนานาประเทศ ซึ่งรวมถึงนางสาวสมฤดี พู่พรอเนก รองอธิบดีกรมยุโรป เอกอัครราชทูตประเทศสมาชิก OSCE จำนวน ๕๗ ประเทศ และประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาฝ่ายเอเชียจำนวน ๕ ประเทศ (รวมไทย)

คณะผู้แทนไทยได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงและหารือในช่วงการอภิปรายต่าง ๆ โดยไทยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือที่สร้างสรรค์ระหว่างเอเชียกับยุโรป โดยเฉพาะอาเซียนกับ OSCE ในด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมบทบาทของภาคประชาสังคมในเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยและอาเซียนดำเนินงานอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมตัวแบบการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG) ความร่วมมือทุกภาคส่วน (PPP) ในไทย และการดำเนินงานของอาเซียนในการต่อต้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อจุดประสงค์ทางอาชญากรรม อีกทั้งได้เน้นถึงการที่อาเซียนและ OSCE ควรพิจารณาแสวงหาโอกาสในการเพิ่มปฏิสัมพันธ์และดำเนินกิจกรรมร่วมกันต่อไป เพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างความมั่นคงองค์รวมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้ ไทยยังได้หารือทวิภาคีกับผู้แทนระดับสูงจากสำนักเลขาธิการ OSCE และกระทรวงการต่างประเทศออสเตรียด้วย

OSCE เป็นเวทีปรึกษาหารือในลักษณะการทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy) เพื่อหาข้อยุติและระงับข้อพิพาทและข้อขัดแย้งในยุโรป โดยมีภารกิจหลักในการส่งเสริมความมั่นคงองค์รวมใน ๓ มิติ ได้แก่ (๑) การเมือง-การทหาร (๒) เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และ (๓) ความมั่นคงมนุษย์ โดยไทยให้ความสำคัญกับ OSCE ในฐานะที่เป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในประเด็นความมั่นคง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความมั่นคง (Confidence- and Security-Building Measures: CSBMs) ระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ