วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 ก.ย. 2566
เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๖ นางพันทิพา เอี่ยมสุทธา เอกะโรหิต รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธีเปิดการเจรจากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก รอบกรุงเทพฯ (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐-๑๖ กันยายน ๒๕๖๖ ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ โดยมีคณะผู้เจรจาหลักจาก ๑๔ ประเทศหุ้นส่วนเข้าร่วม ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม ฟีจี อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม
รองปลัดกระทรวงฯ ได้กล่าวเปิดการเจรจา โดยย้ำถึงศักยภาพของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่จะดำเนินบทบาทนำต่อเศรษฐกิจโลกในอนาคต และเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญเพื่อไปสู่ความเจริญเติบโตในภูมิภาคที่ยั่งยืน เข้มแข็ง และครอบคลุม
รองปลัดกระทรวงฯ ยังได้เน้นย้ำความสำคัญของการมีเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นไปได้ ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และการส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อขับเคลื่อน IPEF ไปข้างหน้า โดย IPEF มีศักยภาพที่จะสามารถช่วยประเทศหุ้นส่วนในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน การอำนวยความสะดวกทางการค้าอย่างไร้รอยต่อ การขยายการลงทุนรูปแบบใหม่ การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว และการกระชับความเชื่อมโยงในทุกมิติ นอกจากนี้ IPEF ยังสามารถช่วยปรับปรุงธรรมาภิบาลโลกในอนาคต โดยเฉพาะการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
IPEF เป็นกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค ประกอบด้วย ๔ เสาความร่วมมือ ได้แก่ (๑) ด้านการค้า (๒) ห่วงโซ่อุปทาน (๓) เศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ (๔) เศรษฐกิจที่เป็นธรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศหุ้นส่วนในภูมิภาค รวมถึงการสนับสนุนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันและการเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับประเด็นท้าทายรูปแบบใหม่ต่าง ๆ โดยประเทศหุ้นส่วนอยู่ระหว่างกระบวนการเจรจาร่างความตกลงความร่วมมือระหว่างกัน การเจรจารอบกรุงเทพฯ ครั้งนี้ มีคณะผู้แทนประเทศหุ้นส่วนเข้าร่วมทั้งหมดจำนวนกว่า ๖๕๐ คน
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **