กรณีกลไกพิเศษสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ออกข่าวสารนิเทศแสดงความห่วงกังวลต่อการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากขึ้น

กรณีกลไกพิเศษสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ออกข่าวสารนิเทศแสดงความห่วงกังวลต่อการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากขึ้น

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 2,232 view

ตามที่เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ สํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights: OHCHR) ได้เผยแพร่ข่าวสารนิเทศของกลไกพิเศษ ซึ่งประกอบด้วย (๑) ผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก (๒) ผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิในเสรีภาพในการชุมนุมโดยสันติและการสมาคม และ (๓) คณะทำงานว่าด้วยการกักกันตัวตามอำเภอใจ โดยข่าวสารนิเทศดังกล่าวแสดงความห่วงกังวลต่อรายงานการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มากขึ้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ขอชี้แจง ดังนี้

กระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ชี้แจงทำความเข้าใจกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยได้ยืนยันว่า

๑. ไทยยึดมั่นในพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน และขอยืนยันว่าการใช้สิทธิ ในเสรีภาพในการชุมนุมโดยสันติและการแสดงออก รวมถึงการอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะและสถาบันพระมหากษัตริย์สามารถกระทำได้ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับวรรค ๓ ของข้อ ๑๙ ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่ไทยเป็นรัฐภาคี ซึ่งระบุว่าการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกต้องมาควบคู่กับหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการเคารพในสิทธิ หรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น หรือการรักษาความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อย

๒. จำนวนคดีที่มีมากขึ้นในขณะนี้เป็นผลสืบเนื่องจากกิจกรรมทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่อาจเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงทำให้เกิดการร้องทุกข์กล่าวโทษ กลุ่มบุคคลผู้ก่อเหตุจำนวนมาก เมื่อมีการร้องเรียน เจ้าพนักงานผู้รับเรื่องร้องทุกข์ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน มิฉะนั้นอาจมีความผิดฐานการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

๓. การสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาในฐานความผิดตามมาตรา ๑๑๒ ล้วนเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของกฎหมาย (due process of law) โดยหากคดีมีมูลก็จะมีการส่งสำนวนไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องต่อไป อีกทั้งผู้ถูกร้องเรียนจะได้รับสิทธิในการโต้แย้งและเข้าถึงทนายความตามกระบวนการยุติธรรมทุกประการ