วันที่นำเข้าข้อมูล 26 พ.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเปิดการประชุม OECD Southeast Asia Regional Forum 2021 โดยเน้นความสำคัญของความร่วมมือพัฒนาทุนมนุษย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล รูปแบบเศรษฐกิจ BCG และสังคมสูงวัย เพื่อการฟื้นฟูหลังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ อย่างสมดุลและยั่งยืน
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) จัดการประชุมในหัวข้อ “Human Capital Development in Southeast Asia: Fostering Competitiveness to Build Back Better” ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากภาคส่วนต่าง ๆ จากประเทศสมาชิก OECD และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มากกว่า ๗๐๐ คน
ในโอกาสนี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศ ได้กล่าวเปิดการประชุม OECD Southeast Asia Regional Forum ประจาปี ๒๕๖๔ เน้นย้ำความสำคัญของการสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะ ที่จำเป็นในการรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) และสังคมผู้สูงอายุ เพื่อการฟื้นฟูหลังโควิด-๑๙ ที่สมดุลและครอบคลุม ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวเปิดการประชุมของนาย Angel Gurría เลขาธิการ OECD และนาย Choi Joong-Moon ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี คนที่ ๒ ว่าการพัฒนาทุนมนุษย์และการพัฒนาทักษะแรงงานอาเซียนมีความจำเป็นเพื่อสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป
ในวันถัดมา (วันศุกร์ที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔) ที่ประชุม Steering Group Meeting of the OECD SEARP ครั้งที่ ๗ (7th SGM) ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนความร่วมมือของ Southeast Asia Regional Program ได้พิจารณาผลของการประชุม Forum โดยนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในฐานะประธานร่วมกล่าวถึงความสำคัญของการนำผลของการประชุม Forum ไปดำเนินการให้มีผลที่เป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งกล่าวสนับสนุนการเพิ่มสาขาความร่วมมือด้านการฟื้นฟูสีเขียว และผลักดันการเพิ่มสาขาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากโควิด-๑๙ ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะมีการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ให้เกิดประโยชน์ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป
อนี่ง โครงการ SEARP ริเริ่มขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๗ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ ระหว่าง OECD กับอาเซียน ด้วยการสนับสนุนการรวมตัวของภูมิภาคอาเซียน ส่งเสริมกระบวนการปฏิรูป ภายในประเทศสมาชิกอาเซียน และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกอาเซียนในหน่วยงานและกลไกต่าง ๆ ของ OECD ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี โดยครอบคลุม ๑๑ ประเด็นสาขาความร่วมมือ เช่น การลงทุน ภาษี นวัตกรรม ความเท่าเทียมทางเพศ MSMEs เป็นต้น ทั้งนี้ ไทยดำรงตำแหน่งประธาน SEARP Steering Group ร่วมกับสาธารณรัฐเกาหลีตั้งแต่ปี ๒๕๖๑
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **