ประเทศไทยได้รับเชิญให้เข้าสู่กระบวนการการหารือเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD

ประเทศไทยได้รับเชิญให้เข้าสู่กระบวนการการหารือเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 มิ.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 18 มิ.ย. 2567

| 5,245 view

เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๗  คณะมนตรีองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) ซึ่งประกอบด้วยเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประเทศสมาชิก OECD ได้มีมติเห็นชอบให้เชิญประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการการหารือเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD (accession discussions)

มติดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย ที่ได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิกต่อ OECD เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ในขั้นตอนต่อไป ประเทศไทยจะร่วมกับ OECD จัดทำแผนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Roadmap) ที่จะกำหนดเป้าหมาย เงื่อนไข และกรอบเวลาในการดำเนินการให้สอดคล้องกับตราสารของ OECD และเมื่อไทยดำเนินการตามแผนครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว คณะมนตรี OECD ก็จะพิจารณาเชิญไทยเข้าเป็นสมาชิก OECD ต่อไป

การตอบรับดังกล่าวของ OECD สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยมีค่านิยมและเป้าหมายที่สอดคล้องกับประเทศสมาชิก OECD ได้แก่ ประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ สิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจตลาดที่เปิดกว้างและโปร่งใสอีกทั้งประเทศไทยยังมีบทบาทด้านการทูตเศรษฐกิจที่แข็งขันในทุกระดับ และมีความร่วมมือกับ OECD มาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การที่ประเทศสมาชิกต่างเห็นชอบในเรื่องนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศสมาชิกทั้งหมดของ OECD ด้วย

อนึ่ง OECD เป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทนำในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนาระดับโลก และให้คำแนะนำในการจัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้องแก่ประเทศสมาชิกทั้ง ๓๘ ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศที่มีรายได้สูง ดังนั้น การหารือเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทยจึงมุ่งที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประเทศไทยกับ OECD และประเทศสมาชิก เพื่อยกระดับมาตรฐานและปรับปรุงนโยบายภายในประเทศให้ทัดเทียมกับมาตรฐานของ OECD โดยเฉพาะด้านการลงทุน การค้า ธรรมาภิบาล การแข่งขันที่เป็นธรรม การพัฒนานวัตกรรม และการเจริญเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง

การดำเนินการเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD อาจใช้เวลาหลายปี แต่การดำเนินการตามแผนการเข้าเป็นสมาชิกจะก่อให้เกิดประโยชน์ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ โดยจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนช่วยเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศในระยะยาว ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะดำเนินกระบวนการเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD ให้ประสบความสำเร็จ โดยเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม โดยมีกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลัก