สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 3 ตุลาคม 2567 เวลา 1100 น. ณ ห้องบัวแก้ว และทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 3 ตุลาคม 2567 เวลา 1100 น. ณ ห้องบัวแก้ว และทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ต.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 ต.ค. 2567

| 1,471 view

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์

โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่ 3 ตุลาคม 2567 เวลา 1100 น.

ณ ห้องบัวแก้ว และทาง Facebook live กระทรวงการต่างประเทศ

 

  1. พัฒนาการล่าสุดสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางและการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศ
  • สืบเนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้น กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ รวมถึงสถานเอกอัครราชทูตไทยอื่น ๆ ในภูมิภาค ได้ร่วมกันติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือคนไทยอย่างเหมาะสม โดยให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัยของคนไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่
  • ตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. 2567 กระทรวงฯ ได้ประกาศแจ้งเตือนให้คนไทยที่มีแผนจะเดินทางไปอิสราเอลหรือประเทศใกล้เคียง ใช้ความระมัดระวังในการเดินทางหรือชะลอการเดินทางหากไม่มีเหตุจำเป็น รวมทั้งขอให้คนไทยที่อยู่ในพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามประกาศ/คำแนะนำของทางการท้องถิ่นและสถานเอกอัครราชทูตไทยในพื้นที่
  • เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ปลัดกระทรวงฯ ได้เป็นประธานจัดการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยสั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตไทยในพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารแก่คนไทยอย่างต่อเนื่อง (1) แจ้งเตือนให้คนไทยที่ไม่มีเหตุจำเป็นต้องพำนักในอิสราเอลและประเทศใกล้เคียง เดินทางออกจากพื้นที่ขณะที่สถานการณ์ยังเอื้ออำนวยต่อการเดินทาง (2) สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตไทยในพื้นที่ประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นเกี่ยวกับการคลื่อนย้ายคนไทยไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย กรณีที่เกิดสถานการณ์การสู้รบที่อาจส่งผลต่อสวัสดิภาพของคนไทย (3) ให้ข้อมูลติดต่อแก่คนไทยในอิสราเอลและประเทศใกล้เคียงเพื่อให้สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน กระทรวงการต่างประเทศ/สถานเอกอัครราชทูตไทย ยังไม่ได้รับคำขอเพื่ออพยพ
  • ในกรณีที่ต้องมีการอพยพคนไทย สถานเอกอัครราชทูตไทยในพื้นที่ได้จัดเตรียมแผนอพยพไว้แล้ว โดยเบื้องต้น จะเคลื่อนย้ายคนไทยไปยังพื้นที่ปลอดภัยภายในประเทศนั้น ๆ ก่อนเป็นลำดับแรก และหากสถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น จึงจะพิจารณาการอพยพไปยังประเทศข้างเคียงที่ปลอดภัยและ/หรือเดินทางกลับประเทศไทยต่อไป
  • สำหรับประเด็นการจัดส่งแรงงานไทยไปอิสราเอล โดยที่สถานการณ์ฯ มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้น กระทรวงฯ เห็นควรให้ชะลอการจัดส่งแรงงานไทยไปอิสราเอลและประเทศใกล้เคียงจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ซึ่งจะประสานงานกับกระทรวงแรงงานเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวต่อไป
  • รัฐบาลติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความห่วงกังวลยิ่ง โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้นอย่างสูงสุดและยุติการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ความขัดแย้งลุกลามบานปลายออกไปมากกว่านี้ รวมถึงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเคารพกฎหมายระหว่างประเทศและให้ความสำคัญกับการเจรจาหยุดยิงให้บรรลุผลโดยเร็ว ทั้งนี้ ประเทศไทยสนับสนุนแนวทางสองรัฐที่มีอิสราเอลและปาเลสไตน์อยู่เคียงคู่กันอย่างมั่นคงและสันติ
  • รัฐบาลไทยห่วงใยในความปลอดภัยของคนไทยทั้งในอิสราเอลและเลบานอน และขอให้คนไทยทุกคนติดตามและปฎิบัติตามคำแนะนำของทางการท้องถิ่นและสถานเอกอัครราชทูตไทยในพื้นที่อย่างเคร่งครัด

 

  1. สรุปภาพรวมการเข้าร่วมประชุม UNGA ณ นครนิวยอร์ก
  • เมื่อวันที่ 23 - 28 กันยายน 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปนครนิวยอร์ก เพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ (UNGA) ครั้งที่ 79 ในช่วงสัปดาห์การประชุมระดับสูง (High-level week) โดยได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม Summit of the Future และการอภิปรายทั่วไป (General Debate) ของการประชุม UNGA79 รวมถึงเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และภริยาเป็นเจ้าภาพ ตลอดจนเป็นประธานและเข้าร่วมการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีต่างประเทศประเทศต่าง ๆ และผู้บริหารของบริษัทสหรัฐฯ ที่สำคัญ รายละเอียด ดังนี้
    • ในที่ประชุม Summit of the Future รัฐมนตรีฯ กล่าวว่า ทุกคนควรได้รับการปกป้องและมีความเจริญรุ่งเรือง ผ่านความมุ่งมั่นทางการเมือง เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ของโลกไปด้วยกัน
    • ในการอภิปรายทั่วไปของการประชุม UNGA ครั้งที่ 79 รัฐมนตรีฯ ได้ย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการดำเนินนโยบายรัฐบาลแบบมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และความพร้อมของไทยในการเป็นสะพานเชื่อมส่งเสริมการเจรจาและความเชื่อใจระหว่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาโลกเหนือ-โลกใต้
    • ในโอกาสจับมือทักทายกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ รัฐมนตรีฯ ได้ยืนยันความพร้อมของไทยที่จะร่วมงานกับสหรัฐฯ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันต่อไปในอนาคต
    • แสดงความยินดีกับสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ ในงานเลี้ยงรับรอง เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติของบรูไนฯ
    • หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีต่างประเทศโรมาเนีย โปแลนด์ โครเอเชีย และคีร์กีซ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่มีความสนใจร่วมกัน รวมถึงยังประโยชน์ให้ประชาชนและประเทศไทยมากที่สุด
    • พบหารือกับเลขาธิการสหประชาชาติ เลขาธิการองค์การความร่วมมือ อิสลาม (OIC) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา และที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อย้ำบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ และการที่ไทยให้ความสำคัญกับสถานการณ์ในเมียนมาในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ไกล้ชิด และส่งเสริมให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ในการสร้างสันติภาพในเมียนมาที่ควรเกิดขึ้นจากภายในเมียนมาเอง (Myanmar-led, Myanmar-owned)
    • พบกับรองประธานบริหารบริษัท Oracle Corporation และผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัท Zoom Video Communications เพื่อเชิญชวนมาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนของการพัฒนาการดำเนินการต่าง ๆ ของภาครัฐ
    • นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ เป็นประธานกล่าวเปิดการหารือระดับรัฐมนตรีของ Group of Friends on Universal Health Coverage (UHC) and Global Health ครั้งที่ 5 และเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF)
  • ในโอกาสเดียวกัน ได้มีกิจกรรมคู่ขนานอีกจำนวนมากที่ฝ่ายไทย ได้เข้าร่วม อาทิ การหารือระหว่างรับประทาน อาหารกลางวันกับสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (USABC) การเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยง รับรองในโอกาสที่ไทยลงสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) วาระปี ค.ศ. 2025-2027 การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ BIMSTEC และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม 77 และจีน ครั้งที่ 48

 

  1. การเข้าร่วมการประชุม ACD Summit ณ กรุงโดฮา
  • วันที่ 3 ตุลาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างร่วมคณะผู้แทนไทยนำโดยนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม Asia Cooperation Dialogue (ACD) Summit ครั้งที่ 3 ที่กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ภายใต้การเป็นประธานของอิหร่าน โดยการประชุม ACD Summit ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่ประเทศไทย เมื่อปี 2559
  • การประชุม ACD Summit ครั้งที่ 3 มีวาระการประชุมที่สาคัญ ได้แก่ การกล่าวถ้อยแถลงของหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสมาชิก ACD และการรับรองปฏิญญาโดฮา (Doha Declaration) ซึ่งการประชุม ACD Summit ครั้งนี้เป็นการเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี และในปี 2568 ไทยจะรับหน้าที่เป็นประธาน ACD อีกครั้ง ซึ่งการเข้าร่วมการประชุมของนายกรัฐมนตรีมีส่วนสำคัญยิ่งในการแสดงความพร้อมในการเป็นประธานของไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมนี้เป็นต้นไป
  • การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อการทูตผ่านกีฬา (Sports Diplomacy) โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งส่งเสริมความร่วมมือด้านการทูตผ่านกีฬาในมิติต่าง ๆ ระหว่างประเทศสมาชิก ACD รวมทั้งหารือประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะการแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความท้าทายและการแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ก้าวข้ามการเมืองและยอมรับความแตกต่าง ส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สันติภาพและความมั่งคั่ง การเน้นย้ำบทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือ รวมถึงการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางการเงินและการค้า ซึ่งสร้างโอกาสการลงทุนสำหรับนักธุรกิจจากประเทศสมาชิก ACD การส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม ความร่วมมือด้านพลังงาน การบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานของระบบคมนาคมและดิจิทัล
  • นอกจากการหารือในกรอบ ACD นายกรัฐมนตรี พร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท His Highness Sheikh Tamim Bin Hamad Al-Thani (เชค ตะมีม บิน ฮะมัด อาล ษานี) เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีในมิติต่าง ๆ รวมถึงแสดงความขอบคุณฝ่ายกาตาร์สำหรับความช่วยเหลือและการสนับสนุนในการประสานงานและสื่อสารให้มีการปล่อยตัวประกันชาวไทยจำนวน 23 คนที่ถูกจับกุมตัวในฉนวนกาซา
  • นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดการพบหารือทวิภาคีกับ Sheikh Sabah Al-Khaled Al-Hamad Al-Mubarak Al-Sabah (เชค เศาะบาฮ์ อัลคอลิด อัลฮะมัด อัลมุบาร็อก อัศเศาะบาฮ์) มกุฎราชกุมาร และรองเจ้าผู้ครองรัฐคูเวต และนาย Masoud Pezeshkian (มัสอูด เปเซชกียาน ) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เพื่อกระชับความร่วมมือด้านต่าง ๆ ระหว่างกัน
  • ในปี 2568 ไทยจะเป็นประธาน ACD เป็นเวลา 1 ปี มุ่งหวังให้ ACD พัฒนาไปเป็นเวทีหารือของเอเชีย (Forum of Asia) ที่เป็นแกนกลางในการผลักดันประเด็นผลประโยชน์ของเอเชียในห้วงศตวรรษแห่งเอเชีย (Asian Century) โดยไทยจะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อม (bridge builder) ประสานผลประโยชน์ของประเทศสมาชิกเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน ซึ่งประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่
    • ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่าง ACD กับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ เช่น ASEAN GCC BRICS CICA (Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia) และ SCO (Shanghai Cooperation Organisation)
    • เสนอแนวคิดการพัฒนาสถาปัตยกรรมทางการเงินที่สมดุลและยืดหยุ่น ผ่านการจัดการประชุมหารือระดับสูงเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมทางการเงิน (preliminary ACD high-level discussions on financial architecture) เพื่อหารือเกี่ยวกับแพลตฟอร์มด้านการเงินและการพัฒนาสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือในเอเชีย (Asian-led and Asian-owned Credit Rating Agencies) เพื่อเป็นทางเลือกนอกเหนือจากสถาบันดังกล่าวในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก

 

  1. การเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ณ เวียงจันทน์ สปป. ลาว
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดร่วมคณะผู้แทนไทยนำโดยนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2567 ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของ สปป.ลาว ในปี 2567 โดยมีแนวคิดหลัก “อาเซียน: เพิ่มทวีความเชื่อมโยงและความเข้มแข็งในอาเซียน” (ASEAN: Enhancing Connectivity and Resilience)
  • การประชุมครั้งนี้จะเป็นการเข้าร่วมประชุมในกรอบอาเซียนครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี โดยนอกจากนายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนด้วยกันแล้ว ยังมีกำหนดจะเข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับคู่เจรจา ได้แก่ จีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย สหรัฐอเมริกา และแคนาดา รวมทั้งสหประชาชาติ เพื่อหารือในประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ การเสริมสร้างประชาคมอาเซียน การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอก และสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สำคัญ

 

รับชมย้อนหลังที่: https://www.facebook.com/share/v/QddbegvjKhramH5b/

* * * * *

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ