นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ ๔

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ ๔

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ธ.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 ธ.ค. 2566

| 6,238 view

เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๖ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ ๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนและพลเอกอาวุโสมิน ออง ไลง์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเป็นประธานร่วม และนายกรัฐมนตรีของราชอาณาจักรกัมพูชา นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เข้าร่วม

ที่ประชุมฯ ยินดีกับพัฒนาการของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างและหารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต โดยนายกรัฐมนตรีเสนอวิสัยทัศน์ “การขับเคลื่อน ๓ อนาคตไปข้างหน้า” ของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ดังนี้ (๑) การพัฒนาความเชื่อมโยงทางกายภาพ โดยเฉพาะโครงการ Landbridge ที่จะเชื่อมโยงอ่าวไทยกับมหาสมุทรอินเดีย และอนุภูมิภาคกับภูมิภาคโดยรวม และการเชื่อมต่อโครงการรถไฟไทย-จีนกับโครงการรถไฟลาว-จีน และการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ผ่านการอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน (๒) การรับมือกับความท้าทายใหม่ อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ การแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยการจัดทำข้อริเริ่มอากาศสะอาดระดับภูมิภาค และการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึง การส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน อาหารและน้ำ ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำระหว่างกัน และ (๓) การสร้างโอกาสในการเติบโตใหม่ ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และข้อริเริ่มระเบียงนวัตกรรม และการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคเป็น ๒ เท่า ภายใน ๒ ปี โดยการส่งเสริมความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและความร่วมมือด้านกงสุล

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เสนอการส่งเสริมความสอดประสานระหว่างกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขงเพื่อสนับสนุนการพัฒนาของอนุภูมิภาคให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และในช่วงท้ายของการประชุมฯ ไทยได้รับมอบตำแหน่งประธานร่วมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างกับสาธารณรัฐประชาชนจีน จากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมามาให้ประเทศไทย โดยไทยจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นระยะเวลา ๒ ปี (ปี ๒๕๖๗-๒๕๖๘)

อนึ่ง ที่ประชุมฯ ได้รับรองเอกสาร ๓ ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาเนปยีดอ แผนดำเนินการระยะ ๕ ปี ของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (ค.ศ. ๒๐๒๓-๒๐๒๗) และข้อริเริ่มร่วมเรื่องการพัฒนาระเบียงนวัตกรรมภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ