รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ ๗

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ ๗

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ก.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 ก.ค. 2565

| 13,843 view

วันที่ ๓ - ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๕ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วม
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ ๗ (Mekong - Lancang Cooperation: MLC) ที่เมืองพุกาม โดยมีจีนและเมียนมาเป็นประธานร่วม

รัฐมนตรีต่างประเทศประเทศสมาชิก MLC ได้ทบทวนความคืบหน้าของความร่วมมือภายใต้กรอบ MLC และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของ MLC
เพื่อรับมือกับความท้าทายร่วมกัน เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ที่ยังไม่สิ้นสุด ความตึงเครียดระหว่างประเทศ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความมั่นคงทางอาหาร พลังงานและน้ำ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยที่ประชุมเห็นพ้องสนับสนุนความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ดังนี้ การรวมตัวทางเศรษฐกิจ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาสีเขียว นวัตกรรม สาธารณสุข และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน ทั้งนี้ จีนได้เสนอข้อริเริ่มสำคัญในสาขาความร่วมมือ ๖ สาขา ได้แก่ การเกษตร น้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจดิจิทัล อวกาศและดาวเทียม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสาธารณสุข

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลง เสนอ “RISE” (together) เป็นแนวคิดเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในสาขาสำคัญทางยุทธศาสตร์ ดังนี้
๑. การส่งเสริมความยืดหยุ่น (Resilience) ด้านสาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางอาหาร พลังงานและน้ำ
๒. การรวมตัวทางเศรษฐกิจ (Integration and Interoperability) เพื่อการส่งเสริมความเชื่อมโยง และการอำนวยความสะดวกการค้าข้ามแดน
๓. การสอดประสาน (Synergy) เพื่อการส่งเสริมการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ทั้งระหว่างประเทศสมาชิก MLC และระหว่าง MLC กับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะ ACMECS
๔. ระบบนิเวศที่เอื้อต่อธุรกิจและนวัตกรรม (Enabling Ecosytem) โดยเฉพาะข้อเสนอของไทยในการพัฒนาระเบียงนวัตกรรม (innovation corridors) และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนใน MLC ผ่านสภาธุรกิจแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong - Lancang Business Council)

ที่ประชุมให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์ ได้แก่ แถลงข่าวร่วม ๑ ฉบับ และแถลงการณ์ร่วม ๔ ฉบับ ด้านศุลกากร การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การบริหารจัดการภัยพิบัติ และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ ความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นด้านศุลกากรและการเกษตรจะช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีน รวมทั้งรับมือกับความท้าทายของการค้าข้ามแดนและปัญหาการติดขัดบริเวณด่านชายแดน นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศประเทศสมาชิก MLC ได้เห็นชอบที่จะเสนอร่างแผนปฏิบัติการ ๕ ปี ของ MLC ฉบับใหม่ (ค.ศ. ๒๐๒๓-๒๐๒๗) ต่อที่ประชุมผู้นำ MLC เพื่อการพิจารณารับรอง

อนึ่ง MLC จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๙ (การประชุมผู้นำ MLC ครั้งที่ ๑) โดยเป็นความริเริ่มของไทย และมีประเทศสมาชิก ๖ ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม ทั้งนี้ ไทยมีกำหนดเข้ารับหน้าที่ประธานร่วม MLC ร่วมกับจีน ต่อจากเมียนมา ภายหลังการประชุมผู้นำ MLC ครั้งที่ ๔

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ