เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงเข้าร่วมการประชุมระดับอธิบดีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น

เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงเข้าร่วมการประชุมระดับอธิบดีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ธ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,996 view
เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๔ นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง และเจ้าหน้าที่อาวุโสของไทยในกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง ได้เข้าร่วมการประชุมระดับอธิบดีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong - Japan Director General-level Meeting) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนาย Takehiro Kano อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เป็นประธานการประชุม
การประชุมฯ เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสประเทศลุ่มน้ำโขงและอธิบดี Kano ได้ติดตามผลการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๔ และเตรียมการประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นในปี ๒๕๖๕ รวมทั้งได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง การเพิ่มพูนบทบาทเชิงรุกของญี่ปุ่นในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy – ACMECS) และแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นในอนาคต โดยที่ประชุมเห็นพ้องให้เร่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นในด้านการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ ความเชื่อมโยงทั้งทางกายภาพและทางกฎระเบียบ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การช่วยเหลือ MSMEs การบริหารจัดการและบรรเทาภัยพิบัติ การพัฒนาทางดิจิทัล การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๑ มีสมาชิกประกอบด้วยประเทศลุ่มน้ำโขง ๕ ประเทศและญี่ปุ่น ปัจจุบัน ขับเคลื่อนโดยยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. ๒๐๑๘ เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขง ภายใต้ ๓ เสาหลัก ได้แก่ (๑) การพัฒนาความเชื่อมโยงที่มีประสิทธิภาพ (๒) การสร้างประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และ (๓) การสร้างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสีเขียว

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ