วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ส.ค. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 ส.ค. 2565
เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง และเจ้าหน้าที่อาวุโสไทยกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา (Mekong - Ganga Cooperation: MGC) ครั้งที่ ๑๓ ที่กรุงพนมเปญ ซึ่งจัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๕ และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
ที่ประชุมได้ทบทวนความก้าวหน้าของ MGC ในรอบ ๒๒ ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคกรอบแรกที่ประเทศลุ่มน้ำโขงและหุ้นส่วนภายนอกภูมิภาคได้จัดตั้ง รวมทั้งบทบาทที่สร้างสรรค์ของอินเดียในการให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมแก่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะผ่านการจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการที่ให้ผลเร็ว (Quick Impact Projects: QIPs) ให้แก่ประเทศสมาชิก MGC
ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือในอนาคตของ MGC เพื่อขับเคลื่อนพลวัตของกรอบความร่วมมือให้รุดหน้าและสอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยให้ความสำคัญกับการกระชับความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ อาทิ สาธารณสุขและการเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคระบาดในอนาคต ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการเสริมสร้างขีดความสามารถแก่ภาคธุรกิจและ SMEs
ในการนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสไทยเสนอทิศทางในการปรับยุทธศาสตร์ความร่วมมือเพื่อให้ MGC ดำเนินก้าวหน้าอย่างเต็มศักยภาพ ได้แก่ (๑) สนับสนุนข้อเสนอขยายระยะเวลาของแผนปฏิบัติการ MGC ค.ศ. ๒๐๑๙-๒๐๒๒ ฉบับปัจจุบัน ต่อไปอีก ๒ ปี โดยมีการทบทวนประเด็นความร่วมมือเร่งด่วนในความท้าทายปัจจุบันและรื้อฟื้นระบบ lead country ให้ครอบคลุมสาขาความร่วมมือทั้ง ๑๐ สาขา ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ (๒) การจัดทำโครงการสำคัญ (flagship project) ของ MGC เช่น สาขาสาธารณสุขด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีน นอกเหนือจากโครงการถนนสามฝ่าย (อินเดีย-เมียนมา-ไทย) ซึ่งเป็นโครงการสำคัญด้านความเชื่อมโยงของ MGC ที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ (๓) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะบทบาทของภาคเอกชนในการฟื้นฟูอนุภูมิภาคฯ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ และการใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ MGC ในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์โครงการของกรอบความร่วมมือฯ สู่สาธารณะ และ (๔) สนับสนุนการสอดประสานการทำงานระหว่าง MGC กับกรอบความร่วมมือ ACMECS ซึ่งเป็น “ข้อต่อ” ที่เชื่อมต่อและประสานผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของประเทศลุ่มน้ำโขงกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ MGC ครั้งที่ ๑๒ ซึ่งมีกำหนดที่จะจัดขึ้นภายในปีนี้
อนึ่ง MGC จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๓ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับประเทศลุ่มน้ำโขง ๕ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **