ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
วันพฤหัสบดีที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น.
ผ่านการถ่ายทอดสด Facebook Live จากกระทรวงการต่างประเทศ
๑. ผลการประชุมคณะอนุกรรมการด้านสารัตถะเพื่อเตรียมการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. ๒๕๖๕
- เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการด้านสารัตถะฯ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า ๕๐ หน่วยงาน เข้าร่วม ที่ประชุมได้พิจารณาใน ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่ (๑) การกำหนดหัวข้อหลัก (Theme) ของเอเปคในปี ๒๕๖๕ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ (๒) การกำหนดและแผนการดำเนินงาน/การขับเคลื่อนผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม (Deliverables) อันสอดคล้องกับประเด็นสำคัญ (Priorities) ๓ ด้าน ที่ไทยต้องการผลักดัน ได้แก่ (๑) การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน (๒) การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว (๓) การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม (๓) การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม (Deliverables) โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้โอกาสการเป็นเจ้าภาพเอเปคขับเคลื่อนการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green – BCG - Economy Model ซึ่งสามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-๑๙ และสามารถขับเคลื่อนร่วมกับเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสีเขียวและสามารถแบ่งปันองค์ความรู้ให้แก่เขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนา เพื่อขับเคลื่อนการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในสาขาที่เป็นประโยชน์ของภูมิภาคในระยะยาว
๒. การหารือระหว่างผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ด้านเอเชีย
- เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือผ่านระบบการประชุมทางไกลกับกับนายไนเจล อดัมส์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรด้านเอเชีย ฝ่ายสหราชอาณาจักรได้แสดงความยินดีต่อความสำเร็จของไทยในการรับมือโควิด-๑๙ และยินดีต่อการลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือด้านวัคซีนโควิด-๑๙ ระหว่าง บริษัท Siam Bioscience และ บริษัท SCG กับ บริษัท AstraZeneca/มหาวิทยาลัย Oxford ซึ่งรัฐบาลสหราชอาณาจักรให้การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ เข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียม โดยฝ่ายไทยยินดีที่บริษัท AstraZeneca เลือกไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนแห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- ไทยยืนยันที่จะร่วมมือกับนานาประเทศในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยเป็นประเทศในกลุ่ม ๒๐ ประเทศแรกที่ได้ยื่นเป้าหมายการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศกำหนด ในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change-UNFCCC) รวมทั้งพร้อมสนับสนุนสหราชอาณาจักร ในการรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๖ (COP26) ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ พร้อมกันนี้ ได้เสนอให้จัดกรอบการหารือเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Dialogue) ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรสมัยพิเศษ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อหารือประเด็นสำคัญ อาทิ การค้าการลงทุน เพื่อขับเคลื่อนพลวัตความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน
๓. ภารกิจด้านการทูตเศรษฐกิจ (Economic Diplomacy): การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
- กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้ดำเนินภารกิจด้านการทูตเศรษฐกิจ (Economic Diplomacy) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในการส่งเสริมการลงทุนและความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการประชุมหารือทางไกลกับ สกพอ. เพื่อรับทราบความคืบหน้าของโครงการ EEC โดยมีผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และคณะผู้แทนถาวรไทยในต่างประเทศ จำนวน ๒๒ แห่ง จากทุกภูมิภาคทั่วโลก เข้าร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านระบบการประชุมทางไกล
- ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าสำคัญด้านโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและนวัตกรรม อาทิ การวางเครือข่าย 5G และการสร้าง EEC Innovation Platform นอกจากนี้ยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในประเด็นการส่งเสริมการลงทุนและความร่วมมือจากต่างประเทศใน EEC อาทิ สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนให้นักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งแผนงานการส่งเสริมการลงทุนและความร่วมมือจากต่างประเทศในปี ๒๕๖๔
- ตัวอย่างการดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและชักจูงการลงทุนใน EEC โดย สอท. /สกญ. ในต่างประเทศ ในไตรมาสที่ ๒ ของปี ๒๕๖๔ อาทิ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู จะจัดกิจกรรมส่งเสริมและชักจูงการลงทุนจากมณฑลเสฉวน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว จะจัดกิจกรรม Webinar หารือรายบริษัทในมณฑลกวางตุ้ง รวมทั้งผลักดันการลงนาม MOU ด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลกับมณฑลกุ้ยโจว สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน จะจัด Webinar ส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ร่วมกับ สวทช. จะจัดโครงการ Virtual Tour ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทย
๔. กรณีคนไทยเสียชีวิตในต่างประเทศและการดูแลช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙
- ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ไทย ทุกแห่งได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ในการอำนวยความสะดวกให้คนไทยสามารถเดินทางกลับประเทศไทย และยังดูแลคนไทยในต่างประเทศในเรื่องอื่น ๆ รวมถึงประสานทางการท้องถิ่นเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
- กรณีการประทุษร้ายคนไทยวัย ๘๔ ปี จนเสียชีวิตในนครซานฟรานซิสโก กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ว่าเบื้องต้น ตำรวจได้จับกุมผู้ต้องสงสัยจำนวน ๒ ราย เป็นชายวัย ๑๙ ปีและหญิงอายุ ๒๐ ปี โดยอยู่ระหว่างการสอบสวนดำเนินคดี ทั้งนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมถึงแนวปฏิบัติการส่งอัฐิกลับประเทศไทยตามที่ครอบครัวประสงค์ ทั้งนี้ ได้แจ้งเตือนคนไทยในนครซานฟรานซิสโกและพื้นที่ใกล้เคียงให้ระมัดระวังตัวในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ
- กรณีนายยุทธศักดิ์ ธนวรรณ หรือเชฟแต่ง พ่อครัวคนไทยในสหรัฐอเมริกา เจ้าของเพจทำอาหาร “ครัวแต่งศรีมณีเด้ง” ซึ่งมีอาการเส้นเลือดในสมองแตกเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๓ และได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล George Washington University (GWU) กรุงวอชิงตัน กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้ให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงสมาคม ชุมชนไทย และสื่อมวลชนไทยในกรุงวอชิงตันและรัฐใกล้เคียง ได้ร่วมรณรงค์ขอรับบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่าย ตามที่มีการเสนอข่าวไปแล้ว โดยเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา นายยุทธศักดิ์ได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยด้วยเครื่องบินพยาบาล (Air Ambulance) ในเวลา ๑๖.๒๐ น. และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพ
- กระทรวงการต่างประเทศขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคนไทยและชุมชนไทยในสหรัฐฯ ที่ร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือนายยุทธศักดิ์ฯ รวมถึงแพทย์และโรงพยาบาล George Washington University ที่ช่วยรักษาอย่างเต็มความสามารถ ส่งผลให้มีอาการดีขึ้นและสามารถเดินทางกลับเข้ามารักษาตัวในประเทศไทยเป็นผลสำเร็จ
๕. ประชาสัมพันธ์รายการ Spokesman Live คุยรอบโลกกับโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันศุกร์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๖.๐๐ - ๑๖.๓๐ น. นายชุตินทร คงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ จะเป็นแขกรับเชิญ โดยจะร่วมพูดคุยเรื่องผลประโยชน์ไทยในเวทีการทูตพหุภาคี
๖. ประชาสัมพันธ์งานสัมมนาวิชาการและอาชีพ ครั้งที่ ๑๓ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ร่วมกับสามัคคีสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ และสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในอังกฤษ มีกำหนดจัด “งานสัมมนาวิชาการและอาชีพ ครั้งที่ ๑๓ ระหว่างวันที่ ๕ - ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เพื่อเป็นเวทีให้นักศึกษาไทยได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนทัศนะ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ แสดงศักยภาพและขีดความสามารถทางด้านวิชาการ โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ (๑) งานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “Inclusive Innovation” (๒) Samaggi Startup Competition เป็นการประกวดแนวคิดทางธุรกิจของนักศึกษา (๓) Samaggi Virtual Careers Fair เป็นตลาดอาชีพสำหรับนักศึกษาไทยทั่วโลก (๔) การประกวด Samaggi Abstract Competition เป็นการแข่งขันเพื่อนำเสนอบทคัดย่องานวิจัยของนักศึกษาไทยจากประเทศต่าง ๆ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานผ่านทางเว็บไซต์ www.samaggisamagom.com และเฟซบุ๊กสามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (Samaggi Samagom)
--------------------