ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น. ผ่านการถ่ายทอดสด Facebook Live จากกระทรวงการต่างประเทศ

ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น. ผ่านการถ่ายทอดสด Facebook Live จากกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,690 view

ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น.

ผ่านการถ่ายทอดสด Facebook Live จากกระทรวงการต่างประเทศ

 

๑. การหารือทวิภาคีระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับเอกอัครราชทูตมองโกเลีย และรัสเซีย ประจำประเทศไทย

มองโกเลีย เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ นายทูมูร์ อามาร์ซานา เอกอัคราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในโอกาสเข้ารับหน้าที่ โดยทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับมองโกเลียให้เกิดความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงการเร่งรัดการจัดทำความตกลงและแผนงานต่าง ๆ ที่จะเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังช่วงโควิด-๑๙ ตลอดจนสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ของกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในกรอบอาเซียนและกรอบภูมิภาค

รัสเซีย เมื่อช่วงเช้าของวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหารือกับนายเยฟเกนี โตมีฮิน เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย ซึ่งเข้าเยี่ยมคารวะเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง โดยทั้งสองฝ่ายหารือการดำเนินกิจกรรมในโอกาสครบรอบ ๑๒๕ ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี ๒๕๖๕ และหารือภาพรวมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทย – รัสเซีย โดยจะมุ่งให้ความสำคัญกับการขยายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่รัสเซียมีศักยภาพ รวมถึงการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - รัสเซีย ครั้งที่ ๘ และการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union - EAEU)

 

๒. ผลการหารือระหว่างปลัดกระทรวงการต่างประเทศกับเอกอัครราชทูต สปป.ลาว และฮังการี ประจำประเทศไทย

สปป.ลาว เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หารือกับนายแสง สุขะทิว เอกอัครราชทูต สปป.ลาว ประจำประเทศไทย โดยทั้งสองฝ่ายยินดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ สปป.ลาว มีความใกล้ชิดในทุกระดับ และเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือและความเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ประเด็นสำคัญที่หารือ อาทิ (๑) ความร่วมมือด้านพลังงาน โดยจะส่งเสริมการซื้อ-ขายไฟฟ้าระหว่างไทยกับลาวให้ครบ ๙,๐๐๐ เมกะวัตต์ ตามบันทึกความเข้าใจที่ได้มีการลงนามระหว่างกัน (๒) ความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งตามเส้นทางถนนระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และ (๓) การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-๑๙ โดยจะเพิ่มปริมาณการค้าการลงทุนระหว่างกัน นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้ขอให้เอกอัครราชทูต สปป.ลาว ผลักดันการแก้ปัญหาการนำเข้าอาหารทะเลจากไทยไป สปป.ลาว ด้วย

ในโอกาสที่ไทยและ สปป.ลาว ครบรอบ ๗๐ ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี ๒๕๖๔ ไทยมีกำหนดส่งมอบอาคารบำบัดยาเสพติดและอาคารผู้ป่วยฉุกเฉินโรงพยาบาลโพนโฮง แขวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว อย่างเป็นทางการด้วย

ฮังการี เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศหารือกับนายซิลเวสเตอร์ บุช เอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทย โดยทั้งสองฝ่ายหารือประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ การเข้ามาลงทุนด้านการบริหารจัดการน้ำในไทยของฮังการี การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่เกื้อกูลกันในการส่งเสริมการค้า การขยายตลาดสินค้าเกษตรระหว่างกัน การประชาสัมพันธ์ทุนการศึกษารัฐบาลฮังการี และความร่วมมือกันในองค์การระหว่างประเทศ ด้านเอกอัครราชทูตฮังการีฯ ยืนยันท่าทีที่เป็นมิตรต่อไทยในสหภาพยุโรปและในเวทีระหว่างประเทศ และพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยภายใต้หลักการเคารพซึ่งกันและกัน

๓. สหรัฐฯ ติดตามทวงคืนทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว และเตรียมส่งคืนสู่ประเทศไทย

  • กรณีการติดตามทวงคืนโบราณวัตถุ ๒ รายการ ได้แก่ ทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ และทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว ที่ถูกลักลอบนำออกจากประเทศไทยและถูกจัดแสดงอยู่ที่ Asian Art Museum นครซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย
  • รัฐบาลตระหนักในคุณค่าความสำคัญของโบราณวัตถุ จึงได้แต่งตั้ง คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ และกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานกับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด เพื่อขอรับข้อมูลการศึกษาทางวิชาการพร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวน จนสามารถพิสูจน์ได้ว่า โบราณวัตถุทั้ง ๒ รายการนั้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและได้ถูกลักลอบนำออกไปโดยผิดกฎหมาย
  • บัดนี้ คดีความเสร็จสิ้นแล้ว โดยฝ่ายจำเลยยินยอมให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยึดทับหลังทั้งสองรายการ และเมื่อพิพิธภัณฑ์ฯ ดำเนินการถอดถอนรายการทับหลังทั้งสองออกจากบัญชีของพิพิธภัณฑ์ฯ เรียบร้อยแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ จะนำส่งทับหลังทั้งสองรายการคืนให้แก่ผู้แทนรัฐบาลไทยผ่านกรอบการดำเนินงาน Victim Remission Program ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ โดยจะมีพิธีส่งมอบโบราณวัตถุทั้งสองรายการให้แก่ฝ่ายไทย อย่างเป็นทางการต่อไป
  • กระทรวงการต่างประเทศขอขอบคุณสำนักงานอัยการสหรัฐฯ สำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigations) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ที่ผลักดันติดตามทวงคืนโบราณวัตถุสำคัญทั้ง ๒ รายการกลับคืนสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ คดีนี้ถือเป็นคดีตัวอย่างในการติดตามคืนโบราณวัตถุชิ้นอื่น ๆ ของไทยในสหรัฐฯ ต่อไป

 

๔. การดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์หรือ TIP Report ของไทยประจำปี ๒๕๖๓ โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

  • เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้หารือกับนางแครี่ จอห์นสโตน (Kari Johnstone) รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานติดตามและต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ผ่านระบบทางไกล เกี่ยวกับรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์หรือ TIP Report ของไทยประจำปี ๒๕๖๓
  • เอกอัครราชทูตฯ ได้ย้ำว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นวาระแห่งชาติ และมุ่่งทำงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำรายงานนี้
  • นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือถึงนาย David Hale ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ชูประเด็นการดำเนินการของไทยในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่เป็นรูปธรรม ทั้งด้านนโยบาย และการปฏิบัติ
  • พัฒนาการที่สำคัญในการปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทยใน ๓ ด้านหรือ 3Ps ในช่วงปีที่ผ่านมา ได้แก่ (๑) Prosecution (การดำเนินคดีและบังคับกฎหมาย) เช่น การจัดตั้งคณะทำงาน (Task force) ระหว่างรัฐบาลไทยกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและรายงานความคืบหน้าการปราบปรามการค้ามนุษย์ การยกระดับคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (Thailand Internet Crimes Against Children Task Force: TICAC) เป็นหน่วยงานถาวรในกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อการบังคับใช้กฎหมายแก้ไขการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กได้อย่างเป็นรูปธรรม (๒) Protection (การคุ้มครองช่วยเหลือ) ให้ความช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์และแรงงานบังคับกว่า ๑๔๘ ราย และปกป้องคุ้มครองพยานกว่า ๕๑ ราย รวมถึงจัดสรรงบประมาณเพื่อเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (๓) Prevention (การป้องกัน) อาทิ การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ๒ ฉบับ เพื่อคุ้มครองแรงงานประมง การคุ้มครองแรงงานต่างด้าวให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเข้มงวด และการขยายใบอนุญาตการทำงานให้แรงงานเพื่อนบ้าน ๓ ประเทศ กว่า ๒๔๐,๕๗๒ ราย ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙
  • กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะเผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ หรือ Trafficking in Persons Report ประจำปี ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนของทุกปี

๕. การดูแลช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ

๕.๑ การดำเนินงานของ สอท. ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ส่งผลให้อัตราการติดโควิด-๑๙ ของชุมชนไทยในนอร์เวย์ ต่ำกว่าชุมชนต่างชาติอื่น ๆ

  • รายงานข่าวของสถานีวิทยุ NPK P2 ของนอร์เวย์ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-๑๙ ในนอร์เวย์ โดยระบุว่า ชุมชนไทยมีอัตราการติดเชื้อต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มชาวต่างชาติอื่น ๆ ในนอร์เวย์ รวมทั้งยังมีอัตราการติดเชื้อต่ำกว่ากลุ่มชาวนอร์เวย์โดยทั่วไป และชื่นชมการทำงานของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ในการให้ข้อมูลแก่ชุมชนไทยเกี่ยวกับมาตรการและข่าวสารโควิด-๑๙ ในนอร์เวย์อย่างต่อเนื่อง
  • ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเพจเฟซบุ๊ก “เรื่องแปล-ข่าวนอร์เวย์” ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสถานเอกอัครราชทูตฯ ในการแปลข่าวสารที่มีประโยชน์ รวมทั้งชุมชนไทยเอง ที่มีการแบ่งปันข่าวสารระหว่างกันมาโดยตลอด จากข้อมูลของสถานเอกอัครราชทูตฯ มีคนไทยในนอร์เวย์ติดเชื้อโควิด-๑๙ ประมาณ ๑๕ - ๒๐ คน และไม่มีผู้ใดมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต

 

๕.๒ การเตือนคนไทยที่จะไปทำงานในตุรกีในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙

  • กรมการกงสุลแจ้งเตือนคนไทยไม่ให้หลงเชื่อคำชักชวนที่เกินจริงให้ไปทำงานที่ตุรกีในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และขอให้ตรวจสอบตำแหน่งงานที่ว่างจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เท่านั้น เนื่องจากการเดินทางเข้าและพำนักในตุรกีโดยผิดวัตถุประสงค์ของการตรวจลงตรา อาจทำให้ถูกจำคุกและถูกขึ้นบัญชีดำ โดยสั่งให้เดินทางออกนอกตุรกีและไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศอีก
  • ขณะนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่มีตำแหน่งงานว่างในตุรกี เนื่องจากมีมาตรการควบคุมโควิด-๑๙ ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจงานบริการ และหากติดเชื้อโควิด-๑๙ ในตุรกี แต่ไม่แสดงอาการ และไม่มีประกันสุขภาพ โรงพยาบาลในตุรกีจะไม่รับตัวไว้รักษา

 

๕.๓ กรณีชาวไทยอายุ ๘๔ ปี ที่ถูกทำร้ายเสียชีวิตที่นครซานฟรานซิสโก และการดูแลคนไทยในนครซานฟรานซิสโก

  • ตามที่มีกรณีการประทุษร้ายชาวไทยวัย ๘๔ ปี จนเสียชีวิตในนครซานฟรานซิสโก เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๔ นั้น เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้ข้าร่วมในพิธีฌาปนกิจชาวไทยท่านดังกล่าว โดยได้แจ้งให้ครอบครัวและชุมชนไทยทราบว่า สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้มีหนังสือแสดงความขอบคุณถึงนายกเทศมนตรีนครซานฟรานซิสโก ที่ให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าว ซึ่งในขณะนี้เรื่องดังกล่าวได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนของสหรัฐฯ แล้ว
  • ระหว่างวันที่ ๙-๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้เข้าเยี่ยมนมัสการคณะสงฆ์และพบปะกับชุมชนไทยในนครซานฟรานซิสโกและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อรับฟังสภาพความเป็นอยู่ในช่วงโควิด-๑๙ รวมถึงการลงทะเบียนเข้ารับวัคซีน โดยได้รับทราบว่า ชุมชนไทยยังคงรับมือกับการแพร่ระบาดฯ ได้ดี และมีผู้สูงอายุเริ่มได้รับวัคซีนแล้ว

 

๕.๔ การให้ความช่วยเหลือลูกเรือบรรทุกสินค้า Lanna Naree ในมัลดีฟส์

  • เมื่อวันที่ ๙ ก.พ. ๒๕๖๔ ได้เกิดเหตุผู้โดยสารและลูกเรือของเรือบรรทุกสินค้าสัญชาติไทย ชื่อ Lanna Naree จำนวน ๑๘ คน มีอาการอาหารเป็นพิษ และเสียชีวิต ๑ คน ซึ่งเป็นพ่อครัว โดยเรือลำดังกล่าวอยู่ระหว่างเดินทางจากออสเตรเลีย ปลายทางศรีลังกา และต่อมาได้เปลี่ยนเส้นทางเข้าเทียบท่าที่กรุงมาเล่ ประเทศมัลดีฟส์
  • สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ จึงได้ประสานงานกับบริษัทตัวแทนดูแลลูกเรือทั้งที่ประเทศไทยและที่มัลดีฟส์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งคนไทย ๑๘ คนกลับประเทศ โดยทั้งหมดได้เดินทางถึงไทยแล้วเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ และจะประสานงานเพื่อดำเนินการส่งศพผู้้เสียชีวิตกลับไทยในลำดับต่อไป

 

๖. ประชาสัมพันธ์รายการ Spokesman Live !!! ในวันศุกร์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ เวลา ๑๕.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. รายการ “คุยรอบโลกกับโฆษก กต.” Spokesman Live! จะสัมภาษณ์นางสาวภัทรัตน์ หงษ์ทอง เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี อดีตอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เรื่อง “บทบาทของไทยกับทิศทางความร่วมมือระหว่างประเทศ หลังยุคโควิด-๑๙” สามารถติดตามรับชมได้ทาง Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”

 

๗. ประชาสัมพันธ์ DLA Magazine นิตยสารออนไลน์จากกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

  • กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ เตรียมเปิดตัว “DLA Magazine” นิตยสารออนไลน์ฉบับปฐมฤกษ์ ในเดือนมีนาคม ๒๕๖๔ ซึ่งมีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับความร่วมมือ ไทย-ลาตินอเมริกา เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ อย่างยั่งยืน ตามแนวทางของวาระแห่งชาติ ซึ่งเน้นการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (ฺBCG) อันจะช่วยเพิ่มพูนความรู้และเสริมสร้างความเข้าใจของคนไทยเกี่ยวกับภูมิภาคภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง และมีองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว
  • ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด DLA Magazine ได้ทางแอปพลิเคชัน Discover Latin America จาก App Store / Google Play Store หรือทาง discoverlatinamerica.net ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไป

 

๘. ประชาสัมพันธ์งานเสวนา New Normal: New Coolture in Digital Age จัดขึ้นโดยกรมสารนิเทศ

ในวันอังคารที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๔.๐๐ น. โดยผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วยคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญในสื่อดิจิตัล อาทิ คุณแท็บ - รวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของพอดคาสท์ Mission to the Moon, คุณเคน - นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ จาก The Standard, คุณมิ้นท์ - มณฑล กสานติกุล เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก I Roam Alone และคุณวิศ - วิศรุต สินพงศพร เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก วิเคราะห์บอลจริงจัง ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรับชมการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”

 

*   *   *   *   *

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

ppt_แถลงข่าว_18_ก.พ._64.pdf