ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น. ผ่านการถ่ายทอดสด Facebook Live จากกระทรวงการต่างประเทศ

ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น. ผ่านการถ่ายทอดสด Facebook Live จากกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,048 view

ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น.

ผ่านการถ่ายทอดสด Facebook Live จากกระทรวงการต่างประเทศ

 

๑. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

  • นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ โดยที่ประชุมเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ จำนวน ๑๑๗,๘๘๐ ล้านบาท พร้อมจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา เพื่อผลิตบัณฑิตและกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูงเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
  • รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มอบนโยบายสำคัญ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) เร่งรัดการนำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model- BCG) ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งในสาขาอุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร สุขอนามัย การแพทย์ พลังงานและการท่องเที่ยว โดยจะผลักดันในกรอบ BIMSTEC และ APEC ในช่วง ๒ ปีจากนี้ด้วย (๒) เน้นบทบาทด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการบริหารสถานการณ์การระบาดของโควิด-๑๙ โดยเฉพาะด้านยาเวชภัณฑ์และวัคซีน และในการเตรียมความพร้อมรับมือความท้าทายต่อความมั่นคงทางสุขภาพในอนาคต และ (๓) เน้นการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ของไทย ซึ่งปัจจุบัน มีสัดส่วน มากกว่าร้อยละ ๑ ของ GDP และมีแนวโน้มสูงขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน

 

๒. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศส่งข้อความแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ธารน้ำแข็งถล่มในรัฐอุตตราขัณฑ์ ประเทศอินเดีย

  • นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีข้อความแสดงความเสียใจถึงนายสุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอินเดีย เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ต่อเหตุการณ์ธารน้ำแข็ง Nanda Devi ถล่มในรัฐอุตตราขัณฑ์ ส่งผลให้น้ำท่วมไหลหลากอย่างฉับพลัน เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
  • เหตุธารน้ำแข็งถล่มดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ๒ แห่ง และพบผู้เสียชีวิตแล้ว ๓๒ ราย และยังสูญหายอีกกว่า ๒๐๖ ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนงานโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ในชั้นนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ยังไม่ได้รับแจ้งว่า มีคนไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว

 

๓. การดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในติมอร์-เลสเต ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

  • ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ กระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้ดำเนินโครงการพระราชดำริว่าด้วยการพัฒนาเด็กและเยาวชนในติมอร์-เลสเต ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้กับโรงเรียนในติมอร์-เลสเต จำนวน ๖ แห่ง อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๔ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี ได้ส่งมอบอาคารเรียนขนาด ๖ ห้อง ๑ หลัง แก่โรงเรียน อิสโคลา บาสิกา ในเมืองเฮรา ชานกรุงดิลี และเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ได้ส่งมอบอาคารเรียนหลังใหม่ขนาด ๓ ห้อง และรั้วให้แก่โรงเรียน อิสโคลา บาสิกา ในจังหวัดแอร์เมรา ทั้งนี้ ยังทรงพระราชทานแนวคิดการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันและการสนับสนุนเครื่องมือการเกษตรด้วย
  • ในพิธีส่งมอบอาคารเรียนดังกล่าว นาย António Guterres รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬา แห่งติมอร์-เลสเต ได้เข้าร่วมและได้กล่าวแสดงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานโรงเรียนต้นแบบในการพัฒนากระบวนการการเรียนรู้ ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขอนามัยของเด็กและเยาวชนในติมอร์-เลสเต อันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

 

๔. การจัดอันดับของไทยในระดับโลก

  • มีข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับการจัดอันดับประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ขององค์กรต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ดังนี้

๑. ด้านเศรษฐกิจ  

  • จากการจัดอันดับของ Bloomberg Study ไทยเป็นอันดับ ๑ ของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่น่าลงทุนที่สุดในปี ๒๕๖๔ และเป็นอันดับที่ ๓๖ ของเขตเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรมมากที่สุด
  • จากการจัดอันดับของ Bloomberg Survey 2020 ไทยเป็นอันดับ ๑ ของประเทศที่มีความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจน้อยที่สุดในโลก ประจำปี ๒๕๖๓
  • จากการจัดอันดับของ Pocket World in Figures 2020 ไทยเป็นอันดับที่ ๑๒ ของประเทศที่มีผลผลิตทางการเกษตรมากที่สุด อันดับที่ ๑๘ ของประเทศที่มีผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมากที่สุด และอันดับที่ ๒๖ ของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด

๒. ด้านธุรกิจ

  • ไทยเป็นอันดับ ๑ ของประเทศที่เหมาะกับการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดประจำปี ๒๕๖๓ และเป็นอันดับที่ ๒ ของประเทศที่น่าเข้ามาลงทุนที่สุดประจำปี ๒๕๖๓ จากการจัดอันดับของ US News & World Report

๓. ด้านการท่องเที่ยว

  • เชียงใหม่ถูกยกเป็นอันดับ ๑ ของเมืองที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวมากที่สุดประจำปี ๒๕๖๓ จากการจัดอันดับของ Condé Nast Traveler’s Readers’ Choice Award Survey 2020
  • ไทยเป็นอันดับที่ ๕ ของประเทศที่ดีที่สุดสำหรับการท่องเที่ยวแบบผจญภัย จากการจัดอันดับของ US News 2020

๔. ด้านสาธารณสุข  

  • ไทยเป็นอันดับ ๑ ของประเทศที่ฟื้นตัวและรับมือกับการระบาดของโควิด-๑๙ ได้ดีที่สุด จากข้อมูลดัชนีโควิด-๑๙ ระดับโลก (Global Covid-19 Recovery Index)
  • ไทยเป็นอันดับที่ ๘ ของประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดประจำปี ๒๕๖๔ จากการจัดอันดับของ Numbeo Survey
  • ไทยเป็นอันดับที่ ๖ ประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพประจำปี ๒๕๖๒ จากการจัดอันดับของ Johns Hopkins University Research

๕. ด้านความยั่งยืนและคุณภาพชีวิต 

  • ไทยเป็นประเทศที่อินเตอร์เน็ตบ้านเร็วที่สุด จากการทดสอบของ Ookla Speedtest ประจำปี ๒๕๖๔
  • ไทยเป็นอันดับ ๑ ของประเทศที่ใช้บริการทางการเงินผ่านแอปพลิเคชันมากที่สุด จากรายงาน Digital 2021 Report
  • ไทยเป็นอันดับที่ ๑๐ ของประเทศที่น่าไปเรียนต่อมากที่สุด จากการจัดอันดับของ US News 2020
  • การที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ดีในด้านต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นการยอมรับในศักยภาพของประเทศไทยในระดับระหว่างประเทศ และยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคนไทยทุกคนที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ

 

๕. ประชาสัมพันธ์รายการ Spokesman Live !!! คุยรอบโลกกับโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันศุกร์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. นายรองวุฒิ วีรบุตร อดีตรองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอัครราชทูตและรองผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา จะเป็นแขกรับเชิญ โดยจะร่วมพูดคุยเรื่องทิศทางการทูตพหุภาคีของไทยหลังโควิด-๑๙ และผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมของไทย โดยมีนายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

๖. ประชาสัมพันธ์โครงการคัดเลือกและพัฒนานักศึกษาฝึกงานอย่างเป็นระบบ (MFA Internship Programme) ประจำปี ๒๕๖๔

  • ขอเชิญชวนนิสิต นักศึกษา ชั้นปีที่ ๓-๔ ที่สนใจฝึกงานกับกระทรวงการต่างประเทศสมัครเข้าร่วม “โครงการคัดเลือกและพัฒนานักศึกษาฝึกงานอย่างมีระบบ” หรือ MFA Intership Programme ประจำปี ๒๕๖๔ เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ ๑๕ - ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ทางเว็บไซต์ mfa.go.th เลือกหัวข้อ MFA Intership Programme และผู้ผ่านการคัดเลือกจะเข้าฝึกงานที่กระทรวงการต่างประเทศ ในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม ๒๕๖๔

 

๗. ประชาสัมพันธ์การเปิดตัวรายงาน OECD Investment Policy Review จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ OECD

  • กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (หรือ OECD) มีกำหนดจัดการเปิดตัวรายงาน OECD Investment Policy Review (IPR) ซึ่งช่วยประเมินสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนของไทย และจัดทำข้อเสนอแนะนโยบาย/มาตรการเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการลงทุนในประเทศ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ผู้สนใจสามารถสืบค้นรายงานฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ oecd.org ทั้งนี้ จะมีการจัดเสวนาระดมสมองระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

 

๘. ประชาสัมพันธ์การอบรมหลักสูตรทักษะสายอาชีพ ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

  • กรมพัฒนาฝึมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้จัดอบรมหลักสูตรทักษะสายอาชีพซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อสู้วิกฤตโควิด-๑๙ โดยไม่ต้องลงทะเบียนและไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งนี้ มีทักษะที่เปิดอบรมทั้งสิ้นจำนวน ๑๕ ทักษะ อาทิ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างซ่อมรถยนต์ ช่างเชื่อมไฟฟ้า ช่างซ่อมโทรทัศน์ การซ่อมโน้ตบุ๊คและไมโครคอมพิวเตอร์ การประกอบอาหารไทย ช่างขับรถยก ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ช่างพ่นสีรถยนต์ ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ ช่างไฟฟ้าในอาคาร
  • ผู้ที่สนใจสามารถเข้ารับการอบรมผ่านทางเว็บไซต์ http://eit.dsd.go.th/dsdtraining.php ทั้งนี้ การอบรมดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่คนไทยในต่างประเทศ ที่สามารถพัฒนาทักษะฝีมือได้ทางออนไลน์

 

๙. กรมการกงสุลประชาสัมพันธ์กรณีคนไทยเดินทางไปต่างประเทศ

  • กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ขอประชาสัมพันธ์ให้คนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศจัดทำประกันสุขภาพเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ และหากต้องเดินทางไปพำนักระยะยาว ก็ขอให้เดินทางไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อจะได้สามารถใช้สิทธิตามสวัสดิการที่พึงมีได้ในประเทศปลายทาง อาทิ ประกันสังคม ประกันสุขภาพ รวมถึงในกรณีที่เจ็บป่วยก็สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้อย่างทันท่วงที
  • อย่างไรก็ดี มีความจำเป็นต้องยืมเงินของทางราชการ กรมการกงสุล รวมถึงสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก ก็พร้อมจะพิจารณาให้ยืมเงินตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเป็นค่าเดินทางกลับประเทศไทยได้ตามความจำเป็น

 

๑๐. การตอบคำถามสื่อมวลชน ในเรื่องท่าทีของไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมา

  • ไทยมีท่าทีต่อสถานการณ์ในเมียนมาที่สอดคล้องกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยบรูไนดารุสซาลามได้ออกแถลงการณ์ประธานอาเซียนว่าด้วยสถานการณ์ในเมียนมา เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ (๑) ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ติดตามพัฒนาการในปัจจุบันของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาอย่างใกล้ชิด (๒) อาเซียนระลึกถึงวัตถุประสงค์และหลักการที่ปรากฏในกฎบัตรอาเซียน รวมถึงการยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และธรรมาภิบาล การเคารพ และปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (๓) ความมั่นคงทางการเมืองในประเทศสมาชิกอาเซียนมีความสาคัญต่อการบรรลุประชาคมอาเซียนที่สงบสุข มั่นคง และมั่งคั่ง และ (๔) สนับสนุนให้ดำเนินการเจรจาการปรองดองและการกลับคืนสู่สภาวะปกติตามเจตจำนง และผลประโยชน์ของประชาชนชาวเมียนมา
  • ไทยได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด มิตรที่หวังดีและมีความห่วงใยซึ่งกันและกัน รวมทั้งเป็นสมาชิกของครอบครัวเดียวกันภายใต้อาเซียน
  • ไทยและเมียนมายึดถือหลักการว่าความมั่นคงและความมั่งคั่งของเมียนมาคือความมั่นคง และความมั่งคั่งของไทยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ สันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมาจึงมีความสำคัญสำหรับไทยอย่างมาก และไทยหวังว่าสถานการณ์จะได้รับการแก้ไขอย่างสันติด้วยการพูดคุยหารือกันและกลับคืนสู่ปกติในเร็ววันเพื่อประโยชน์ของประชาชนเมียนมา

*****

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

เ้อกสารประกอบการแถลงข่าว_11_ก.pdf