กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับ IOM ประเทศไทย เสริมสร้างความรู้และบทบาทขององค์กรภาค ประชาสังคมในการรายงานข่าวเชิงบวก เรื่องการโยกย้ายถิ่นฐาน ผ่านโครงการฝึกอบรมเรื่อง “การสื่อสารเพื่อการพัฒนา (C4D)”

กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับ IOM ประเทศไทย เสริมสร้างความรู้และบทบาทขององค์กรภาค ประชาสังคมในการรายงานข่าวเชิงบวก เรื่องการโยกย้ายถิ่นฐาน ผ่านโครงการฝึกอบรมเรื่อง “การสื่อสารเพื่อการพัฒนา (C4D)”

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ก.พ. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 ก.พ. 2568

| 456 view

กระทรวงการต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประเทศไทย และ Social Lab - Migration in Media (ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยฮันยาง สาธารณรัฐเกาหลี) ร่วมจัดโครงการฝึกอบรมเรื่อง “การสื่อสารเพื่อการพัฒนา (C4D)” ระหว่างวันที่ 17 - 18 กุมภาพันธ์ 2568 ณ โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์ พอยต์ เพลินจิต เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการรายงานข่าวเชิงบวกเกี่ยวกับประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐานในไทย การดำเนินงานของภาครัฐและกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องของไทย รวมทั้งส่งเสริมความรู้ด้านการสื่อสารผ่านหลักการเพื่อการพัฒนาให้แก่องค์กรภาคประชาสังคม โดยมีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจากองค์กรภาคประชาสังคมกว่า 30 คน

 

ในห้วงพิธีเปิดการฝึกอบรม นางมาระตี นะลิตา อันดาโม รองอธิบดีกรมสารนิเทศ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วม พร้อมกล่าวถึงบทบาทสำคัญของประเทศไทยในฐานะประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน และประเทศปลายทางสำหรับผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งปัจจุบันผู้โยกย้ายถิ่นฐานมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย แต่สาธารณชนบางส่วนยังคงมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ส่งผลให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลเชิงลบและบิดเบือน โดยเน้นย้ำถึงการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาสังคมซึ่งเป็นด่านหน้าที่เข้าใจประเด็นและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มผู้โยกย้ายถิ่นฐาน นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยโดยเน้นย้ำการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง โปร่งใส และปราศจากอคติ

 

ขณะที่คุณเจรัลดีน อองซาร์ค หัวหน้าสำนักงาน IOM ประเทศไทย ได้ร่วมกล่าวเปิดการฝึกอบรมโดยเน้นย้ำบทบาทสำคัญของประเทศไทยในการจัดการกับประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐาน พร้อมกล่าวว่าการโยกย้ายถิ่นฐานเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่มีมาอย่างยาวนาน แต่ยังคงเกิดปัญหาทัศนคติเชิงลบต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐาน จนนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและอคติของกลุ่มคนเหล่านั้น ดังนั้น การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เข้าใจประชาชนในพื้นที่จึงมีความสำคัญอย่างมากในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารบนข้อเท็จจริง เพื่อเสริมสร้างความรู้และบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคมในการรายงานข่าวเชิงบวกต่อประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐาน

 

การฝึกอบรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การส่งเสริมวาทกรรมเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานผ่านหลักฐานเชิงประจักษ์ และการรายงานของสื่อมวลชนในประเทศไทย” ระยะเวลา 2 ปี ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับ IOM ประเทศไทย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ