วันที่นำเข้าข้อมูล 22 มิ.ย. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 มิ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง และเจ้าหน้าที่อาวุโสไทยกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong - Japan Cooperation: MJ) ที่กรุงพนมเปญ โดยมีกัมพูชาและญี่ปุ่นเป็นประธานร่วม
ที่ประชุมหารือเรื่องการเตรียมการการประชุมระดับสูงในกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้ รวมทั้งทบทวนความคืบหน้าของความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งเป็นเวทีสำคัญสำหรับการประสานนโยบาย เพื่อการลดช่องว่างการพัฒนาและการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะด้านความเชื่อมโยงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของกรอบความร่วมมือฯ เพื่อร่วมกันรับมือกับความท้าทายที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเผชิญอยู่ในขณะนี้ ทั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก ปัญหาเงินเฟ้อ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน โดยที่ประชุมเห็นพ้องให้เร่งขยายความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาด้านดิจิทัล
ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตอรุณรุ่งฯ ได้เสนอให้ประเทศสมาชิกยกระดับความร่วมมือภายใต้ยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. ๒๐๑๘ โดยเฉพาะด้านการลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การพัฒนาดิจิทัล และอาชีวศึกษา ผ่านการจัดตั้งศูนย์ KOSEN Education Center ในประเทศไทย เพื่อเป็นฐานสำหรับการทำวิจัยและพัฒนาหลักสูตร และเชื่อมโยงสถาบัน KOSEN ในอนุภูมิภาคฯ นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตอรุณรุ่งฯ ยังได้ผลักดันให้ญี่ปุ่นและประเทศลุ่มน้ำโขงส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข และการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งด้านพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้ประโยชน์จากโครงการ Japan - US - Mekong Power Partnership (JUMPP) และการประชุม Mekong - Japan SDGs Forum ซึ่งเป็นเวทีการหารือภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการที่ไทยและญี่ปุ่นร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๑ มีสมาชิกประกอบด้วยประเทศลุ่มน้ำโขง ๕ ประเทศ และญี่ปุ่น ปัจจุบัน ขับเคลื่อนโดยยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. ๒๐๑๘ เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขง ภายใต้ ๓ เสาหลัก ได้แก่ (๑) การพัฒนาความเชื่อมโยงที่มีประสิทธิภาพ (๒) การสร้างประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และ (๓) การสร้างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสีเขียว
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **