วันที่นำเข้าข้อมูล 31 พ.ค. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 31 พ.ค. 2566
เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๖ นางสาวพินทุ์สุดา ชัยนาม เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง และเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong - Republic of Korea Cooperation: Mekong - ROK) ประจำปี ๒๕๖๖ ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
ที่ประชุมยินดีกับพัฒนาการทางความร่วมมือในกรอบ Mekong - ROK และชื่นชมบทบาทที่สร้างสรรค์และความมุ่งมั่นของสาธารณรัฐเกาหลีในการมีส่วนร่วมพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตามปฏิญญาแม่น้ำฮัน แผนปฏิบัติการ Mekong - ROK ปี ค.ศ. ๒๐๒๑ - ๒๐๒๕ และข้อริเริ่ม Korea - ASEAN Solidarity Initiative (KASI) ให้มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสะท้อนได้จากการที่เกาหลีใต้สนับสนุนเงินทุนให้กองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong - Republic of Korea Cooperation Fund: MKCF) เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในสาขาต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก Mekong - ROK ตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ จนถึงปัจจุบัน รวมจำนวนกว่า ๔๐ โครงการ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางความร่วมมือในอนาคตของ Mekong - ROK เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคฯ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ และการผันผวนของสถานการณ์โลก และเสริมสร้างขีดความสามารถในการรับมือกับความท้าทายของความมั่นคงรูปแบบใหม่
เอกอัครราชทูตพินทุ์สุดาฯ ได้ย้ำความพร้อมของไทยในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่จะร่วมมือกับสาธารณรัฐเกาหลีในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคฯ และเสนอให้ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงร่วมมือกับสาธารณรัฐเกาหลีในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ (๑) การรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ อาทิ ปัญหาขบวนการหลอกลวงทางโทรศัพท์ (call center) การค้ามนุษย์ การปราบปรามยาเสพติด และโรคระบาด (๒) การบริหารจัดการน้ำและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหมอกควัน (๓) ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า การเกษตรอัจฉริยะ เครือข่าย 5G เศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) และ (๔) การสอดประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อนความร่วมมือใน Mekong - ROK ซึ่งไทยยินดีที่เกาหลีใต้จะจัดการประชุม Mekong - ROK Business Forum ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๖ และระหว่าง Mekong - ROK กับกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงอื่น ๆ โดยเฉพาะ ACMECS รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือแบบไตรภาคีในอนุภูมิภาคฯ ระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (TICA - KOICA) และระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอื่น ๆ
Mekong - ROK จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๔ ประกอบด้วยสมาชิกประเทศลุ่มน้ำโขง ๕ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และสาธารณรัฐเกาหลี ปัจจุบัน ดำเนินความร่วมมือภายใต้แผนปฏิบัติการ Mekong - ROK ปี ค.ศ. ๒๐๒๑ - ๒๐๒๕ บนพื้นฐานของ ๓ เสาหลัก ได้แก่ ประชาชน ความเจริญรุ่งเรือง และสันติภาพ และ ๗ สาขาความร่วมมือ ได้แก่ (๑) วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (๒) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (๓) การเกษตรและการพัฒนาชนบท (๔) โครงสร้างพื้นฐาน (๕) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (๖) สิ่งแวดล้อม และ (๗) ความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **