วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.พ. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)
แถลงข่าวร่วมสำหรับการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของ
ดาโตะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ
นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
วันศุกร์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
๑. ดาโตะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ นายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซีย เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ตามคำเชิญของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยือนประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเแนะนำตัวในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยนายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้หารือทวิภาคีร่วมกันในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ณ ทำเนียบรัฐบาล
๒. ทั้งสองฝ่ายตระหนักว่าการเยือนประเทศไทยครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีอิซมาอิลฯ มีความสำคัญในการส่งเสริมมิตรภาพอันแน่นแฟ้นและยาวนานระหว่างทั้งสองประเทศ ผู้นำทั้งสองได้เน้นย้ำความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย และปูทางไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองประเทศให้ก้าวหน้าขึ้นอีก
๓. ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและยั่งยืนหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) และจะแสวงหาความร่วมมือด้านใหม่ ๆ เพื่อจะส่งเสริมความมั่นคงอย่างรอบด้านและความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนไทยและมาเลเซีย ดังนี้
การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในทุกมิติ
๔. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อและครอบคลุมระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งรวมถึงการอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางข้ามพรมแดนทางอากาศ ทางบก และทางทะเล และการผลักดันโครงการความเชื่อมโยงที่คั่งค้างให้มีความคืบหน้า ทั้งสองฝ่ายได้หารือการเปิดพรมแดนสำหรับผู้ที่จะเดินทางจากอีกประเทศ ซึ่งได้รับวัคซีนครบโดส เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและให้ประชาชนสามารถไปมาหาสู่กันได้อีกครั้งในโอกาสแรก โดยยังต้องให้ความสำคัญกับมาตรการด้านสาธารณสุขและการควบคุมโรค โดยในประเด็นนี้ ทั้งสองฝ่ายหวังที่จะมีการกลับมาเปิดพรมแดนทางอากาศร่วมกันอีกครั้งโดยเร็วสำหรับผู้ที่ได้วัคซีนครบโดสโดยไม่ต้องกักกันตัว เพื่อช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อหารือแนวทาง โดยเฉพาะสำหรับการเดินทางข้ามพรมแดนทางบก
๕. ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการยอมรับร่วมกันของเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย และเห็นพ้องที่จะเร่งรัดกระบวนการซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับการเดินทางของประชาชนทั้งสองประเทศ
๖. ทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับสถานะของโครงการความเชื่อมโยงที่คั่งค้าง โดยเฉพาะการสร้างถนนเชื่อมต่อด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ – ด่านศุลกากรบูกิตกายูฮิตัม และการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งใหม่ รวมทั้งเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเร่งรัดโครงการดังกล่าว
๗. ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงผลประโยชน์ร่วมกันจากการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนทั้งสองประเทศ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกันในเรื่องนี้
๘. ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือในกรอบแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทยให้แน่นแฟ้น โดยเฉพาะการดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงทางกายภาพ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมมือกันในสามด้านหลัก ได้แก่ เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร การท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล เพื่อที่จะบรรลุวิสัยทัศน์แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ปี ค.ศ. ๒๐๓๖ ที่ต้องการรวมกลุ่มกันอย่างมีบูรณาการ ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ครอบคลุม และยั่งยืน
การกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ
๙. ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการค้าและการลงทุนทวิภาคี รวมทั้งจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้าระหว่างกันจำนวน ๓ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขยายกรอบระยะเวลาเป็นภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๕ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องด้วยว่าควรจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ครั้งที่ ๓ ในโอกาสแรกเพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมายดังกล่าว
๑๐. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะแสวงหาความร่วมมือด้านใหม่ ๆ ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและอนาคตที่ครอบคลุม รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกันในด้านการวิจัยวัคซีน
๑๑. ทั้งสองฝ่ายแสดงความพร้อมที่จะลงนามในบันทึกความเข้าใจที่ยั่งคั่งค้างในเรื่องการขนส่งสินค้าและ
การขนส่งผู้โดยสารทางถนนข้ามพรมแดน และความร่วมมือด้านศุลกากร เมื่อได้ข้อสรุปสุดท้ายร่วมกัน และต่างฝ่ายได้ดำเนินกระบวนการภายในที่เกี่ยวข้องเสร็จสิ้นแล้ว
การเน้นย้ำความมั่นคงและเสถียรภาพ
๑๒. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความสำคัญของการส่งเสริมการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย และในรัฐทางภาคเหนือของมาเลเซีย เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติสุข ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองของพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงให้เข้มแข็งเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางชายแดน โดยเฉพาะการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและการกระทำผิดกฎหมายข้ามแดนอื่น ๆ
การฟื้นฟูกลไกความร่วมมือทวิภาคี
๑๓. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มพูนการหารือ สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการติดต่อกันให้มากขึ้น รวมถึงฟื้นฟูกลไกความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มีอยู่ อาทิ การประชุมหารือประจำปีระหว่างนายกรัฐมนตรีทั้งสอง การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี การประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน การประชุมคณะกรรมการร่วมด้านการค้า การประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป และการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคง ในการนี้ ฝ่ายไทยแสดงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – มาเลเซีย ครั้งที่ ๑๔ และการประชุมระดับรัฐมนตรีสำหรับคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย ครั้งที่ ๕ ในปี ๒๕๖๕
ความร่วมมือระดับภูมิภาค
๑๔. ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับพัฒนาการล่าสุดในภูมิภาคและยืนยันความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนและให้การสนับสนุนอาเซียนอย่างต่อเนื่องเพื่อก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ เพื่อธำรงสันติสุข ความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำความจำเป็นที่ต้องสนับสนุนความพยายามในการสร้างประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็ง ซึ่งรวมถึงการดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๒๕ ที่มาเลเซียมีบทบาทนำ และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมภายใต้สามเสาหลักของประชาคมอาเซียนเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งสองฝ่ายยังเน้นย้ำบทบาทที่สร้างสรรค์ของอาเซียนในการรับมือกับประเด็นในภูมิภาคที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกัน ซึ่งรวมถึงสถานการณ์ในเมียนมา โดยเฉพาะการปฏิบัติตามฉันทามติ ๕ ข้อ ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน
๑๕. ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) สู่การเป็นประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่น และสงบสุข โดยฝ่ายไทยแสดงความตั้งใจที่จะสานต่อความสำเร็จจากการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของมาเลเซีย ในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ ขณะที่ฝ่ายมาเลเซียให้การสนับสนุนประเทศไทยสำหรับการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ในปี ค.ศ. ๒๐๒๒
๑๖. ทั้งสองฝ่ายแสดงความพึงพอใจกับผลลัพธ์ของการเยือน ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ฉันมิตรอันยาวนานระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย รวมทั้งความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศที่จะเพิ่มพูนความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ
* * * * * * * * * *
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **