วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ต.ค. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 ต.ค. 2566
แถลงการณ์ข่าวร่วม
ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๖ กรุงปักกิ่ง
๑. ตามคำเชิญของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ได้เข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ ๓ และเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๖ ในห้วงการเยือน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ขณะที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง และประธานสภาประชาชนแห่งชาติจ้าว เล่อจี้ ได้หารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ตามลำดับ
๒. ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงการเยือนประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จด้วยดีของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๕ และถ้อยแถลงร่วมระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย - จีนเพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ โดยกล่าวชื่นชมความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ของการเยือนดังกล่าว และเห็นพ้องที่จะดำเนินการตามฉันทามติและผลลัพธ์สำคัญของการเยือน เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย - จีนเพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น
๓. ผู้นำทั้งสองประเทศย้ำถึงความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทย - จีนที่ใกล้ชิด ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีและประเด็นที่มีความสนใจและห่วงใยร่วมกัน และเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างประเทศและภูมิภาคที่มีความซับซ้อนและผันผวน ยึดมั่นในการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย - จีนด้วยวิสัยทัศน์ระยะยาวและมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ เสริมสร้างความเข้าใจเรื่องความเป็น “จีน - ไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” อย่างต่อเนื่อง และบรรลุการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย - จีนเพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น ในโอกาสที่ทั้งสองประเทศมุ่งสู่วาระการฉลองครบรอบ ๕๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี ๒๕๖๘
๔. ฝ่ายจีนแสดงความยินดีต่อประเทศไทยสำหรับความสำเร็จในการจัดการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลในปีนี้ และแสดงความสนับสนุนต่อประเทศไทยในการรักษาเสถียรภาพ ส่งเสริมการพัฒนา และการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ฝ่ายไทยแสดงความชื่นชมอย่างสูงต่อความสำเร็จยิ่งใหญ่ในการพัฒนาประเทศของจีนในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา และแสดงความเชื่อมั่นว่าจีนจะสามารถพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศสังคมนิยมที่ยิ่งใหญ่ที่มีความทันสมัยรอบด้าน บรรลุเป้าหมาย ๑๐๐ ปี ประการที่ ๒ และเดินหน้าการฟื้นฟูชาติจีนที่ยิ่งใหญ่ในทุกด้านผ่านแนวทางการสร้างความทันสมัยในแบบจีน
๕. ทั้งสองฝ่ายจะคงการสนับสนุนซึ่งกันและกันในประเด็นผลประโยชน์หลักและข้อห่วงกังวลสำคัญของแต่ละฝ่าย ฝ่ายจีนเคารพเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย ฝ่ายไทยยึดมั่นในนโยบายจีนเดียวอย่างแน่วแน่ และยอมรับว่ารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลตามกฎหมายเพียงรัฐบาลเดียวที่เป็นตัวแทนของจีนทั้งปวง และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ฝ่ายไทยสนับสนุนหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของจีน
๖. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะรักษาการติดต่อและแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้นำ และแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างทันท่วงทีเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในความสัมพันธ์ทวิภาคีและประเด็นระหว่างประเทศและภูมิภาคที่มีความสนใจร่วมกัน เพื่อกระชับการพูดคุยเชิงยุทธศาสตร์ เสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจทางการเมืองระหว่างกัน และขับเคลื่อนทิศทางความสัมพันธ์ไทย - จีน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (พ.ศ. ๒๕๖๕ - ๒๕๖๙) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนฉันมิตรและความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมอย่างเป็นระบบระหว่างหน่วยงานราชการและหน่วยงานระดับท้องถิ่นของทั้งสองฝ่าย และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในสาขาต่าง ๆ อาทิ การบริหาร
๗. ทั้งสองฝ่ายชื่นชมอย่างยิ่งต่อความร่วมมือกันภายใต้กรอบข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง โอกาสครบรอบ ๑๐ ปีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางกับยุทธศาสตร์ใหม่ด้านการพัฒนาของไทย และดำเนินการตามแผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ ๒๑ เพื่อบรรลุการพัฒนาร่วมกันที่มีคุณภาพสูงและยั่งยืน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะพยายามอย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนแนวคิดระเบียงการพัฒนาความเชื่อมโยงไทย - ลาว - จีน เร่งการก่อสร้างโครงการความร่วมมือรถไฟความเร็วสูง ไทย - จีน และการเชื่อมโยงรถไฟจีน - ลาวกับระบบรางของไทยโดยเร็ว เพื่อยกระดับห่วงโซ่โลจิสติกส์ ห่วงโซ่อุตสาหกรรม และห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงเสริมสร้างสภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาที่เชื่อมโยงกันในอนุภูมิภาค
๘. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเรื่องการให้ความสำคัญกับบทบาทของกรอบคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย - จีน ในระดับรองนายกรัฐมนตรี ขยายความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในด้านการค้า การลงทุน การเกษตร ป่าไม้ การประมง โครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูลข่าวสารและโทรคมนาคม และสาขาอื่น ๆ ส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าขายผลิตภัณฑ์เกษตรแบบทวิภาคีต่อไป และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในจีนผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เวทีส่งเสริมการค้าและการลงทุน และงานแสดงสินค้าและกิจกรรมที่ทั้งสองฝ่ายจัดขึ้น ฝ่ายไทยยินดีต้อนรับการขยายการลงทุนของจีนในประเทศไทย และทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด เศรษฐกิจดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการบรรลุข้อสรุปต่อการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีนภายในสิ้นปี ๒๕๖๗ ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ฝ่ายไทยสนับสนุนการเข้าเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีน
๙. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านวัฒนธรรม การศึกษา สาธารณสุข การท่องเที่ยว กีฬา เยาวชน หน่วยงานคลังสมอง สื่อมวลชน และเมืองพี่เมืองน้อง ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างนักท่องเที่ยวมากขึ้นและย้ำความสำคัญของการให้บริการที่มีคุณภาพและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะรื้อฟื้นการหารือเกี่ยวกับความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราระหว่างกันสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มพูนการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมให้วิสาหกิจด้านการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว พัฒนาทรัพยากรบุคคล และสนับสนุนการขยายตลาดท่องเที่ยวและการพัฒนาองค์กรซึ่งกันและกัน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสนับสนุนวิสาหกิจด้านการขนส่งทางอากาศของตนให้เพิ่มเที่ยวบินระหว่างไทย - จีนโดยสอดคล้องกับอุปสงค์ของตลาด เพื่ออำนวยความสะดวกความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้า และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน
๑๐. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านกลาโหมและการบังคับใช้กฎหมาย ส่งเสริมความร่วมมือในด้านการฝึกซ้อมร่วม การฝึกอบรมบุคลากร สิ่งอุปกรณ์และเทคโนโลยี กฎหมาย และระบบยุติธรรมทางอาญา ตลอดจนร่วมกันป้องกันและกระชับความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะยาเสพติด การค้ามนุษย์ การพนันออนไลน์ ขบวนการหลอกลวงทางออนไลน์ ดิจิทัล และโทรคมนาคม การฟอกเงิน และการก่อการร้าย
๑๑. ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงการส่งเสริมพหุภาคีนิยมและความร่วมมือระหว่างประเทศ ฝ่ายไทยชื่นชมบทบาทของจีนในการส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาของโลก และพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในความร่วมมือภายใต้กรอบข้อริเริ่มด้านการพัฒนาระดับโลก เพื่อขับเคลื่อนการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติปี ๒๕๗๓ โดยเร็ว ทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาความร่วมมือที่เป็นไปได้ภายใต้กรอบข้อริเริ่มด้านความมั่นคงระดับโลกและข้อริเริ่มด้านอารยธรรมระดับโลก เพื่อรับมือกับผลกระทบจากความท้าทายของความมั่นคงแบบดั้งเดิมและความมั่นคงรูปแบบใหม่ ตลอดจนส่งเสริมสันติภาพ การพัฒนา ความเป็นธรรม ความยุติธรรม ประชาธิปไตย และเสรีภาพ ต่อไป
๑๒. ทั้งสองฝ่ายย้ำการยึดมั่นต่อภูมิภาคนิยมที่เปิดกว้างและครอบคลุม เพื่อสร้างภูมิภาคที่สงบสุข ปลอดภัยและมั่นคง เจริญรุ่งเรือง สวยงาม และเป็นมิตร กระชับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียน - จีน เพื่อสร้างประชาคมอาเซียน - จีนที่มีอนาคตร่วมกันที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และส่งเสริมการสอดประสานและการสนับสนุนเกื้อกูลระหว่างกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) และกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation: MLC) เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันที่มีสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองระหว่างประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้างที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ฝ่ายไทยพร้อมที่จะทำหน้าที่ประธานร่วมกรอบ MLC ในวาระถัดไป และทำงานร่วมกับจีนอย่างใกล้ชิดในการเสริมสร้างการบูรณาการในอนุภูมิภาค และส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันภายใต้กรอบ MLC
๑๓. นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน แสดงความขอบคุณฝ่ายจีนสำหรับคำเชิญเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ ๓ และเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการเยือนที่มีต่อการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย - จีนเพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น ในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน แสดงความซาบซึ้ง ต่อการต้อนรับที่อบอุ่นและเป็นมิตรของฝ่ายจีน และเชิญผู้นำจีนเยือนไทยในเวลาที่ทั้งสองฝ่ายสะดวก
ในช่วงการเยือนครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในเอกสารความร่วมมือในด้านการทูต ความร่วมมือข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง เศรษฐกิจดิจิทัล ศุลกากร (การส่งออกเสาวรสผลสด) ภาพยนตร์ วัฒนธรรม สื่อสารมวลชน และอื่น ๆ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **