แถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) ในโอกาสประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

แถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) ในโอกาสประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 16 พ.ย. 2565

| 19,471 view

ฉลองครบรอบ ๑๐ ปีความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย – เวียดนาม:

เปิดศักราชใหม่ของความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น

เพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่งคั่งร่วมกัน

 

๑. ตามคำเชิญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย นายเหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และนางเจิ่น เหงียต ทู ได้เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ก่อนเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia - Pacific Economic Cooperation: APEC) ที่กรุงเทพมหานคร โดยเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในรอบ ๒๔ ปี และนับเป็นก้าวสำคัญทางประวัติศาสตร์ในความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างสองประเทศ

๒. ประธานาธิบดีเหวียน ซวน ฟุก ได้เข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ การหารือทวิภาคีกับ
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และงานเลี้ยงอาหารค่ำที่นายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีเวียดนาม ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยในช่วงระหว่างที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ประธานาธิบดีเหวียน ซวน ฟุก ยังมีกำหนดการอื่นกับผู้นำภาคส่วนต่าง ๆ ของไทย และคณะนักธุรกิจของทั้งสองประเทศด้วย

๓. ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้หารืออย่างกว้างขวางเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และระหว่างประเทศ ในบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจ ความจริงใจ และไมตรีจิต โดยคำนึงถึงผลกระทบเชิงลบต่อประเทศกำลังพัฒนาจากความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังดำเนินอยู่ ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามในทุกสาขา รวมถึงความมั่นคง การค้า การลงทุน การพัฒนาที่ยั่งยืน และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนเพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอกดังกล่าว

ในฐานะสองเขตเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีศักยภาพสูง ไทยและเวียดนามจะประสานจุดแข็งของกันและกัน และกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเพื่อบรรลุการฟื้นฟูอย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน และยืดหยุ่นจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ในทั้งสองประเทศ ซึ่งความพยายามดังกล่าวจะช่วยเร่งการบูรณาการทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและขับเคลื่อนการเติบโตและการพัฒนาของอนุภูมิภาค ซึ่งเป็นหัวใจของภูมิภาคเอเชียตะวันออก

ในฐานะที่ทั้งสองประเทศเป็นผู้เล่นที่แข็งขันและสร้างสรรค์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ไทยและเวียดนามจะส่งเสริมการประสานงานและความเป็นหุ้นส่วนกันเพิ่มมากขึ้นเพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อาเซียน และภูมิภาคในวงกว้าง

๔. ผู้นำทั้งสองฝ่ายพึงพอใจที่ทั้งสองประเทศยังดำเนินการปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือทวิภาคีไปข้างหน้า แม้จะประสบความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายรับทราบความสำเร็จของการจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ครั้งที่ ๔ (Joint Commission on Bilateral Cooperation: JCBC) เมื่อปี ๒๕๖๔ คณะกรรมการการค้าร่วมครั้งที่ ๔ (Joint Trade Committee: JTC) เมื่อปี ๒๕๖๕ และการประชุมด้านพลังงานไทย-เวียดนาม ครั้งที่ ๒ (Thailand - Viet Nam Energy Forum: TVEF) เมื่อปี ๒๕๖๕ ที่ประเทศไทย

๕. ผู้นำทั้งสองฝ่ายพึงพอใจต่อพัฒนาเชิงบวกและความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป และยินดีต่อการฉลองครบรอบ ๑๐ ปีของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศในปี ๒๕๖๖ โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายแสดงเชื่อมั่นต่อศักยภาพของการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน และเห็นพ้องที่จะเปิดศักราชใหม่ของความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาตร์ที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่งคั่งร่วมกัน ในการนี้ ผู้นำทั้งสองได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งระหว่างไทยกับเวียดนามปี ๒๕๖๕-๒๕๗๐ ซึ่งจะเป็นแนวทางพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศในทศวรรษข้างหน้า

ในโอกาสนี้ ผู้นำทั้งสองประเทศยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามในเอกสารหลายฉบับ (ตามเอกสารแนบท้าย)

 

การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพ

 

๖. ผู้นำทั้งสองฝ่ายพึงพอใจกับความร่วมมือทวิภาคีด้านความมั่นคงและกลาโหมที่ใกล้ชิด ซึ่งช่วยส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจทางยุทธศาสตร์ระหว่างทั้งสองประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศเร่งกระชับความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในประเด็นความมั่นคงและกลาโหมที่ทั้งสองฝ่ายมีผลประโยชน์และข้อกังวลร่วมกัน ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังยืนยันความมุ่งมั่นที่จะไม่ให้บุคคลหรือองค์กรใดใช้ดินแดนของประเทศหนึ่งเพื่อดำเนินกิจกรรมการต่อต้านรัฐบาลของอีกประเทศหนึ่ง

๗. ผู้นำทั้งสองฝ่ายยินดีต่อแผนการจัดการประชุมและการปรึกษาหารือระดับสูงเพื่อกระชับความร่วมมือ
ทางการเมืองและความมั่นคงในทุกระดับ รวมถึงการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat: JCR) ครั้งที่ ๔ ในครึ่งหลังของปี ๒๕๖๖ การประชุมคณะกรรมการร่วมด้านความมั่นคงไทย-เวียดนาม (Defence Policy Dialogue: DPD) ครั้งที่ ๔ ในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ การประชุมคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง (Joint Working Group on Political and Security Cooperation: JWG on PSC) ครั้งที่ ๑๒ ในไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๖ การประชุมหารือด้านความมั่นคง (Security Dialogue) ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเวียดนาม ครั้งที่ ๒ ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ และโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยยามฝั่งเวียดนามมิตรประเทศ ครั้งที่ ๑ ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๕

 

การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการฟื้นฟูและการเติบโตที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น

๘. ผู้นำทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการค้าทวิภาคี แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และความท้าทายระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ ปัจจุบัน ไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนามในอาเซียน ขณะที่เวียดนามเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของไทยในอาเซียน ผู้นำทั้งสองฝ่ายยินดีที่การค้าระหว่างทั้งสองประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบัน อยู่บนแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการค้าทวิภาคีที่ ๒๕,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ๒๕๖๘ โดยทั้งสองฝ่ายรับทราบด้วยความพึงพอใจว่าแนวโน้มการค้าทวิภาคีโดยรวมกำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างสมดุลมากยิ่งขึ้น

๙. เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศให้มากยิ่งขึ้น ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้กระบวนการการนำเข้าและส่งออกง่ายขึ้น อำนวยความสะดวกการค้าข้ามแดนและการนำผ่านสินค้าไปยังประเทศที่สาม แก้ปัญหาอุปสรรคการลงทุน และศึกษาโอกาสความร่วมมือใหม่ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจดิจิทัล พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีทางด้านการเงิน ซึ่งรวมถึงการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่านระบบคิวอาร์โค้ด (QR Code)

 ๑๐. ผู้นำทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการส่งเสริม การอำนวยความสะดวก และคุ้มครองการลงทุนใน
ทั้งสองประเทศ และให้คำมั่นที่จะเร่งกระชับความร่วมมือเพื่อเพิ่มพูนการลงทุนระหว่างไทยกับเวียดนามต่อไป ประธานาธิบดีเหวียน ซวน ฟุก ยินดีที่ ปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ลงทุนต่างชาติลำดับที่เก้าในเวียดนาม มีมูลค่าลงทุนรวมถึงปี ๒๕๖๔  กว่า ๑๓,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกัน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็ยินดีต่อความสนใจของนักลงทุนเวียดนามที่จะลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น และหวังว่าจะเห็นการลงทุนจากเวียดนามในไทยเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้

๑๑. ผู้นำทั้งสองฝ่ายยินดีต่อพัฒนาการเชิงบวกล่าสุดเกี่ยวกับการลงทุนของไทย ซึ่งรวมไปถึงการจัดตั้งหอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม (Thai Chamber of Commerce and Industry: ThaiCham) เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๔ การเปิดสำนักงานผู้แทนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และการเปิดสาขาของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในนครโฮจิมินห์ การให้สินเชื่อของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยแก่ธนาคารเพื่อการลงทุนและพัฒนาแห่งเวียดนาม (Bank for Investment and Development of Vietnam: BIDV) มูลค่า ๑๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงนามสัญญาสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยกับธนาคารพาณิชย์เพื่อการค้าระหว่างประเทศแห่งเวียดนาม (Commercial Bank for Foreign Trade of Vietnam: Vietcombank) โดยมีเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าการค้าในปีแรกถึง ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท (๒๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) การประกาศเจตจำนงของบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด (มหาชน) ที่จะลงทุนจำนวน ๗๙๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อขยายสาขาในเวียดนามในสี่ปีข้างหน้า และการเริ่มกระบวนการผลิตของโครงการปิโตรเคมีลองเซินของบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ที่จังหวัดบ่าเสียะ – หวุงเต่าในปี ๒๕๖๕ ผู้นำทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการเริ่มการชำระเงินผ่านแดนผ่านระบบระบบคิวอาร์โค้ด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการช่วยอำนวยความสะดวกการท่องเที่ยวและการใช้เงินสกุลท้องถิ่น และการส่งเสริมการระบบดิจิทัลในทั้งสองประเทศ

     ๑๒. ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตจำนงที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งระหว่างไทยและเวียดนาม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจสังคมของทั้งสองประเทศผ่านยุทธศาสตร์ “การเชื่อมโยงสามด้าน” ได้แก่

        o การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่เกื้อกูลและเป็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น ปิโตรเคมี การเกษตร เครื่องจักร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

        o การเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานรากของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะการเสริมสร้างความเชื่อมโยงและการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจโดยตรงระหว่างกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises: MSMEs) และผู้ประกอบการท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้ามแดนในระดับท้องถิ่นถึงท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น

        o การเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน ระหว่างโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green: BCG) ของไทย และยุทธศาสตร์การพัฒนาสีเขียวของเวียดนาม เพื่อให้ทั้งสองประเทศบรรลุเป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน

๑๓. ผู้นำทั้งสองฝ่ายรับทราบด้วยความพึงพอใจต่อความก้าวหน้าของความร่วมมือทางวิชาการ
และการพัฒนา และได้เห็นพ้องที่จะร่วมมือกันในประเด็นการบริหารจัดการน้ำในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมทั้งร่วมมืออย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

๑๔. ผู้นำทั้งสองฝ่ายต่างชื่นชมความร่วมมือทวิภาคีด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน ที่ได้เพิ่มพูนการเชื่อมโยงและความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายยังรับทราบและชื่นชมบทบาทของสมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม และสมาคมมิตรภาพเวียดนาม-ไทย และเห็นพ้องที่จะยังคงสนับสนุนองค์กรทั้งสองเพื่อส่งเสริมและเพิ่มพูนความเป็นมิตรระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือบ้านพี่เมืองน้องระหว่างจังหวัดของทั้งสองประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนในวงกว้างและลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ของทั้งสองประเทศ

 

เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ

๑๕. ผู้นำทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำถึงความสำคัญที่ไทยและเวียดนามจะประสานท่าทีกันอย่างใกล้ชิดในประเด็นที่มีความห่วงกังวลและมีผลประโยชน์ร่วมกันในกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และพหุภาคีที่ทั้งสองประเทศเป็นสมาชิก เช่น สหประชาชาติ (United Nations: UN) สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations: ASEAN) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia - Pacific Economic Cooperation: APEC) การประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting: ASEM) โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) และกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงอื่น ๆ นอกจากนี้ ประธานาธิบดีเหวียน ซวน ฟุก ได้กล่าวชื่นชมการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปคของไทยในปี ๒๕๖๕ ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
แสดงความขอบคุณสำหรับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากเวียดนาม

 

 

๑๖. ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องว่า ไทยและเวียดนามจะทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมความเป็นเอกภาพ

ความเป็นแกนกลาง และการดำเนินการของอาเซียนในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายได้แสดงการสนับสนุนบทบาทนำของอาเซียนในประเด็นเมียนมาอย่างเต็มที่ ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการดำเนินการในสาขาความร่วมมือทั้งสี่ด้านที่ระบุไว้ในเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on Indo-Pacific: AOIP) กรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Recovery Framework: ACRF) และข้อริเริ่มสำคัญอื่น ๆ ของอาเซียน ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการสอดประสานระหว่างกลไกความร่วมมือลุ่มน้ำโขงต่าง ๆ กับความพยายามส่งเสริมการเป็นประชาคมอาเซียน ไทยและเวียดนามยังเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการดำเนินการตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) อย่างมีประสิทธิภาพ

๑๗. ผู้นำทั้งสองฝ่ายยืนยันความสำคัญของการรักษาและส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ
ความปลอดภัย และเสรีภาพในการเดินเรือในและการบินผ่านเหนือทะเลจีนใต้ และตระหนักถึงประโยชน์ของ
ทะเลจีนใต้ที่เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความไพบูลย์ ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำความสำคัญของการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และหลักนิติธรรมในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงความปลอดภัย ความมั่นคงและเสรีภาพในการเดินเรือและการบินผ่านน่านฟ้าในทะเลจีนใต้ ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ย้ำถึงความมุ่งมั่น ที่จะสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดยปราศจากการคุกคามหรือการใช้กำลัง ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ปี ค.ศ. ๑๙๘๒ (UNCLOS) โดยให้เคารพกระบวนการทางกฎหมายและการทูตอย่างเต็มที่  ทั้งสองฝ่ายยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินการตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea: DOC) ปี ๒๕๔๕ อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อความคืบหน้าของการเจรจาที่มีเนื้อหาสาระที่มุ่งไปสู่การเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea: COC) ที่มีประสิทธิภาพ มีเนื้อหาที่ครอบคลุม และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. ๑๙๘๒ ภายในระยะเวลาที่ตกลงร่วมกัน

                                                  * * * * *

กรุงเทพมหานคร
๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เอกสารแนบท้าย

 

เอกสารที่ลงนามในช่วงการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายเหวียน ซวน ฟุก

๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕

 

๑. แผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งระหว่างไทย - เวียดนาม ระยะปี พ.ศ. ๒๕๖๕ – ๒๕๗๐

๒. ความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางการศาลในคดีแพ่งระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

๓. บันทึกความเข้าใจเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องระหว่างราชอาณาจักรไทย กับนครดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

๔. บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเวียดนาม

๕. สัญญาสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยกับธนาคารพาณิชย์เพื่อการค้าระหว่างประเทศแห่งเวียดนาม