ถ้อยแถลงร่วมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านและการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย-จีน เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งมองไปข้างหน้า และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ถ้อยแถลงร่วมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านและการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย-จีน เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งมองไปข้างหน้า และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ก.พ. 2568
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 8 ก.พ. 2568
| 627 view
ถ้อยแถลงร่วม ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านและการสร้างประชาคม ที่มีอนาคตร่วมกันไทย-จีน เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น ด้วยวิสัยทัศน์ ที่มุ่งมองไปข้างหน้า และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 5-8 กุมภาพันธ์ 2568 ตามคำเชิญของนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นการเยือนระดับสูงครั้งแรกของปี 2568 ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ ภายใต้แนวคิดหลัก “ปีทองแห่งมิตรภาพไทย-จีน”
ระหว่างการเยือน นายกรัฐมนตรีได้เข้าเยี่ยมคารวะนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งพบหารือทวิภาคีกับนาย หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน และนายจ้าว เล่อจี้ ประธานสภาประชาชนแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน นายกรัฐมนตรียังได้เข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ฤดูหนาว ครั้งที่ 9 ที่นครฮาร์บิน มณฑลเฮยหลงเจียงด้วย
ทั้งสองฝ่ายย้ำว่า ไทยกับจีนถือว่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน เสมือนญาติสนิทกัน และยังเป็นหุ้นส่วนที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน โดยทั้งสองฝ่ายต่างยึดถือความเคารพซึ่งกันและกัน ความมุ่งมั่นช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง และการมีวิสัยทัศน์ร่วมกันสำหรับอนาคต นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 และการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านในปี 2555 ทั้งสองฝ่ายได้เสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันมาอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และมีการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนมากยิ่งขึ้น นำมาซึ่งผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมให้แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ และช่วยส่งเสริมการพัฒนาและเสถียรภาพของทั้งสองประเทศและในภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นที่เคยแสดงร่วมกันระหว่างการเยือนประเทศไทยครั้งประวัติศาสตร์ของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี 2565 ที่จะสร้างประชาคมไทย-จีนที่มีอนาคตร่วมกัน เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น และเห็นพ้องที่จะดำเนินตามเป้าหมายนี้ต่อไปโดยการกระชับความร่วมมือทวิภาคีให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
โอกาสครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ถือเป็นหมุดหมายสำคัญให้ทั้งสองประเทศรักษาพลวัตความร่วมมือเชิงบวกนี้ และขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน รวมทั้งจัดการกับความท้าทายรูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งไปข้างหน้าและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อการนี้ ทั้งสองฝ่ายจะรักษาการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูง และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น ฝ่ายนิติบัญญัติ รวมถึงภาคส่วนอื่น ๆ สำหรับกิจกรรมการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีนในปี 2568 นั้น ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้มั่นใจว่าความผูกพันฉันครอบครัวที่สะท้อนอยู่ในคำกล่าวแต่เดิมว่า “ไทย-จีน ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” จะอยู่ในใจประชาชนทั้งสองประเทศตลอดไป
ไทยชื่นชมความสำเร็จและการพัฒนาประเทศในยุคใหม่ของจีนภายใต้การนำของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงบทบาทสำคัญของจีนในการพิทักษ์สันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก นอกจากนี้ ไทยยังได้แสดงความยินดีกับความสำเร็จของจีนในการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ฤดูหนาว ครั้งที่ 9 รวมถึงชื่นชมบทบาทเชิงบวกของจีนในการส่งเสริมความเป็นเอกภาพและมิตรภาพของครอบครัวเอเชีย ฝ่ายจีนชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่ไทยประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นในการส่งเสริมการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังเข้ารับหน้าที่ไม่นาน ฝ่ายจีนยืนยันสนับสนุนรัฐบาลชุดใหม่ของไทยอย่างเต็มที่ที่นำโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร และจะประสานยุทธศาสตร์การพัฒนาของจีน รวมถึงความริเริ่มที่สำคัญ ได้แก่ ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ข้อริเริ่มด้านการพัฒนาระดับโลก (Global Development Initiative: GDI) ข้อริเริ่มด้านความมั่นคงระดับโลก (Global Security Initiative: GSI) และข้อริเริ่มด้านอารยธรรมระดับโลก (Global Civilization Initiative: GCI) กับนโยบายการพัฒนาของไทยเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาประเทศของแต่ละฝ่ายให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้นต่อไป
ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่องในประเด็นผลประโยชน์หลักและข้อห่วงกังวลสำคัญของแต่ละฝ่าย จีนจะเคารพเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย และสนับสนุนเส้นทางพัฒนาประเทศของไทยที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศ รวมถึงสนับสนุนให้ไทยมีบทบาทมากขึ้นในกิจการระดับภูมิภาคและระดับโลก ส่วนไทยจะยึดมั่นในนโยบายจีนเดียวอย่างแน่วแน่ โดยยอมรับว่ารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลตามกฎหมายเพียงรัฐบาลเดียวที่เป็นตัวแทนของจีนทั้งปวง และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ รวมทั้งจะไม่สนับสนุนการเรียกร้องใด ๆ เรื่องเอกราชของไต้หวัน นอกจากนี้ ไทยจะสนับสนุนนโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของจีนด้วย
ไทยกับจีนจะเดินหน้าส่งเสริมความร่วมมือเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ การพัฒนาที่มีมาตรฐานสูง พลังงานสะอาด รวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาสีเขียว ฯลฯ ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมการค้าทวิภาคีโดยการเปิดตลาดมากขึ้น ส่งเสริมผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง และการขยายความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมโครงการความร่วมมือที่สามารถปฏิบัติให้เกิดผลได้ รวมถึงโครงการนำร่องในการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ร่วมกัน และการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันส่งเสริมการกำกับมาตรฐานสินค้า การประเมินคุณสมบัติ คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ และสนับสนุนการใช้เอกสารการค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มความสะดวกในการค้าต่อไป นอกจากนี้ ไทยกับจีนจะส่งเสริมความเชื่อมโยงของอุปทาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แบตเตอรี่ไฟฟ้า ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ตลอดจนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างภาคธุรกิจ รวมถึงการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของแต่ละฝ่าย และจะร่วมกันส่งเสริมและรักษาการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ทั้งสองประเทศจะเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีด้านพลังงาน โดยเฉพาะในการพัฒนาพลังงานสะอาดและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสะอาด และกระชับความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับกรอบหุ้นส่วนด้านพลังงานภายใต้ยุทธศาสตร์สายแถบและเส้นทาง สำหรับด้านการส่งเสริมการลงทุน ไทยยินดีที่จีนจะร่วมมือเป็นหุ้นส่วนการลงทุนในระยะยาว รวมถึงการเชื่อมโยงตลาดทุนและการอำนวยความสะดวกผลิตภัณฑ์ทางการเงินข้ามพรมแดน และความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากับจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เชิงนวัตกรรม และใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ การดูแลสุขภาพ อุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม และยานยนต์ไฟฟ้า อีกทั้ง ทั้งสองฝ่ายจะเร่งรัดการเจรจาแผนปฏิบัติการร่วมภายใต้แผนพัฒนา 5 ปีว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ( 2568-2572) เพื่อให้สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ในเร็ววัน
ทั้งสองฝ่ายยอมรับว่า ความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นจะเป็นตัวเร่งการบูรณาการทางเศรษฐกิจและการเติบโตร่วมกันในภูมิภาค และเห็นพ้องที่จะเร่งรัดการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 และให้สามารถสรุปรูปแบบความร่วมมือและเริ่มดำเนินการโครงการดังกล่าวในระยะที่ 2 โดยเร็ว ทั้งสองฝ่ายย้ำว่า ควรนำแนวคิดระเบียงการพัฒนาความเชื่อมโยงไทย-ลาว-จีน ไปดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อระหว่างทั้งสามประเทศโดยเร็ว ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างการเชื่อมต่อทางถนนและทางราง และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินพิธีการศุลกากรและมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะใช้ประโยชน์จากที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของไทยในฐานะศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคในทุกมิติ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ กฎระเบียบ และดิจิทัล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง
ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือที่มีความหมายในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมุ่งสนับสนุนกำลังการผลิตคุณภาพใหม่ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนในหลายทศวรรษข้างหน้า ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะยกระดับความร่วมมือในการวิจัยร่วม และการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น เทคโนโลยีการเกษตร เทคโนโลยีด้านสุขภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อผลิตกำลังคนคุณภาพสูงอย่างเพียงพอในระยะยาว และเสริมสร้างขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรมของทั้งสองประเทศ
ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความสัมพันธ์ทวิภาคี และเห็นพ้องที่จะส่งเสริมและขยายความร่วมมือเชิงปฏิบัติในด้านสำคัญต่าง ๆ เช่น วัฒนธรรม การศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะวิชาชีพ สังคมวัฒนธรรมและภาษา สื่อและการสื่อสาร เมืองพี่เมืองน้อง และอำนาจละมุน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะใช้ประโยชน์จากความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราซึ่งกันและกันสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาและหนังสือเดินทางกึ่งราชการ เพื่ออำนวยความสะดวกการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวคุณภาพสูงและการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ความปลอดภัย ของนักท่องเที่ยว รวมถึงการสนับสนุนให้สายการบินเพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างเมืองน่าเที่ยวของทั้งสองประเทศ อนึ่ง ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนความร่วมมือในด้านสื่อและสิ่งพิมพ์ การถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์ และภาพยนตร์ ฯลฯ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกัน ต่อต้านข่าวปลอมและข้อมูลที่บิดเบือน รวมถึงส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับทั้งสองประเทศในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะในคนรุ่นใหม่
ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ไทยแสดงความขอบคุณไมตรีจิตของจีนที่อนุญาตให้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจากวัดหลิงกวงที่กรุงปักกิ่ง มาประดิษฐานที่ไทยเป็นการชั่วคราว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมมิตรภาพอันยาวนานและความสัมพันธ์ระดับประชาชนของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ จีนยินดีที่จะพิจารณาคำขอของไทยที่จะร่วมมือด้านการวิจัยแพนด้ายักษ์ระหว่างประเทศต่อไป โดยทั้งสองฝ่ายจะเตรียมการสำหรับความร่วมมือดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง
ทั้งสองฝ่ายย้ำความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคโดยกระชับความร่วมมือ ด้านความมั่นคงทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบใหม่ รวมถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างกองทัพในระดับต่าง ๆ การฝึกร่วมและอบรมทางทหารร่วมกัน ความร่วมมือในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การเสริมสร้างศักยภาพ การพัฒนาบุคลากร และการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะยกระดับความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ตลอดจนกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคอื่น ๆ ที่มีอยู่ เช่น การลาดตระเวนและบังคับใช้กฎหมายลุ่มแม่น้ำโขง 4 ประเทศ (ไทย จีน ลาว และเมียนมา) เพื่อต่อต้านกับอาชญากรรมข้ามพรมแดน เช่น การค้ามนุษย์ การหลอกลวงทางออนไลน์ อาชญากรรมทางไซเบอร์ การลักลอบขนยาเสพติด การพนันนออนไลน์ผิดกฎหมาย และการฟอกเงิน ด้วยจุดยืนที่แน่วแน่ไม่อดทนต่อการกระทำผิด ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะหารือกันเพิ่มเติม เพื่อกำหนดกลไกความร่วมมือที่เหมาะสมในการต่อต้านการหลอกลวงทางโทรคมนาคมและการพนันออนไลน์ผิดกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว ทั้งสองฝ่ายจะมีส่วนร่วมใน “ปฏิบัติการแม่โขงปลอดภัย” (Safe Mekong Operation) อย่างแข็งขันยิ่งขึ้น และส่งเสริมความร่วมมือในสาขากระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-แม่น้ำล้านช้าง เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในภูมิภาค
ทั้งสองฝ่ายเรียกร้องให้มีความพยายามร่วมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการแก้ไขมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือในการยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน โดยการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีและประสานความพยายามด้านการลดความยากจนและการพัฒนาชนบท รวมถึงการป้องกัน เตรียมความพร้อม และบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติ
ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านสาธารณสุข และเสริมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ เทคโนโลยีสุขภาพ และการแพทย์ดั้งเดิม ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกัน
ทั้งสองฝ่ายย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน เสริมสร้างกลไกที่นำโดยอาเซียน ส่งเสริมโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่เปิดกว้างและครอบคลุม รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาและความร่วมมือในภูมิภาค ทั้งสองประเทศเห็นพ้องที่จะร่วมกันสร้างบ้านที่สงบสุข ปลอดภัย มั่นคง มั่งคั่ง สวยงาม และเป็นมิตร ตลอดจนผลักดันความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างอาเซียนกับจีน เพื่อสร้างประชาคมอาเซียน-จีนที่มีอนาคตร่วมกันที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการดำเนินการตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) อย่างมีคุณภาพ สนับสนุนการเข้าเป็นภาคี RCEP ของฮ่องกง และหวังว่าจะมีข้อสรุปและมีการลงนามการยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน 0 โดยเร็วภายในปี 2568 นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศจะส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) และข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสความร่วมมือใหม่ ๆ ภายใต้ข้อริเริ่มด้านการพัฒนาระดับโลก เพื่อขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี ค.ศ. 2030 ให้ก้าวหน้า
ทั้งสองฝ่ายยืนยันความสำคัญในการรักษาและส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความปลอดภัยในทะเลจีนใต้ และความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ด้วยความมุ่งมั่นต่อการดำเนินการตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration of the Conduct of Parties in the South China Sea: DOC) อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ และการเร่งผลักดันการจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea: COC) ที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นที่จะผลักดันความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือที่มีอยู่ เช่น กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) และโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Economic Cooperation Program: GMS) ในฐานะประธานร่วมของ MLC ทั้งสองฝ่ายจะใช้ประโยชน์จากการประชุมผู้นำที่จะจัดขึ้นที่ไทย เพื่อเป็นโอกาสในการกระชับความร่วมมือระดับภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในด้านต่าง ๆ รวมถึงความเชื่อมโยง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ นวัตกรรมทางเทคโนโลยี และเศรษฐกิจดิจิทัล และร่วมมือกันรับมือกับความท้าทายเร่งด่วน อาทิ มลพิษทางอากาศ และอาชญากรรมข้ามพรมแดน ทั้งนี้ ฝ่ายไทยหวังจะได้ต้อนรับผู้นำจีนมาเข้าร่วมงานสำคัญดังกล่าว
ทั้งสองประเทศเห็นพ้องว่า ไทยและจีนมีผลประโยชน์ร่วมกันในวงกว้างและมีจุดยืนที่คล้ายคลึงกันในประเด็นระหว่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนระบบระหว่างประเทศโดยมีสหประชาชาติเป็นแกนหลัก ระเบียบระหว่างประเทศบนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ และบรรทัดฐานพื้นฐานที่กำกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งยึดตามวัตถุประสงค์และหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ ทั้งสองฝ่ายจะปกป้องความเป็นธรรมและความยุติธรรมระหว่างประเทศ สนับสนุนความเป็นเอกภาพและความร่วมมือของประชาคมระหว่างประเทศ และส่งเสริมค่านิยมร่วมกันของมนุษยชาติ ได้แก่ สันติภาพ การพัฒนา ความเสมอภาค ความยุติธรรม ประชาธิปไตย และเสรีภาพ ทั้งสองฝ่ายจะปกป้องระบบการค้าพหุภาคีที่ตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์โดยมีองค์การการค้าโลก (World Trade Organisation: WTO) เป็นแกนหลัก ให้มีความเปิดกว้าง โปร่งใส ครอบคลุม และไม่เลือกปฏิบัติ เร่งรัดการปฏิรูปองค์การการค้าโลกอย่างเต็มที่ และขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจให้มีความเปิดกว้าง ครอบคลุม สมดุล และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเสริมสร้างการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ในเวทีพหุภาคีต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) กลุ่ม BRICS และ กรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) ในการนี้ จีนแสดงความยินดีที่ไทยเข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS โดยไทยหวังว่าจีนจะคงสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่เพื่อให้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ต่อไป นอกจากนี้ ไทยได้ให้การสนับสนุนจีนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปี 2569 โดยไทยหวังจะทำงานร่วมกับสมาชิกเอเปคเพื่อให้เป็นปีแห่ง ความสำเร็จของเอเปคที่มีผลลัพธ์ที่สำคัญ
ระหว่างการเยือน ทั้งสองฝ่ายลงนามในเอกสารความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจ เศรษฐกิจดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ การอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรและการเปิดตลาด (ผลิตภัณฑ์ประมงที่มาจากการเพาะเลี้ยง) เทคโนโลยีนิวเคลียร์ การสำรวจดวงจันทร์ การพัฒนาสีเขียว สื่อมวลชนและสื่อ ฯลฯ
นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณฝ่ายจีนที่ให้การรับรองระหว่างการเยือนจีนอย่างเป็นทางการครั้งนี้ อย่างอบอุ่น และได้เชิญผู้นำจีนเยือนไทยในเวลาที่ทั้งสองฝ่ายสะดวก ผู้นำจีนจึงแสดงความขอบคุณสำหรับคำเชิญและตอบรับที่จะมาเยือนประเทศไทยด้วยความยินดี
* * * * * * * * * *