รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย - ตุรกี (Joint Committee on Economic and Technical Cooperation: JETC) ครั้งที่ ๔ ระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๖ มกราคม ๒๕๖๖

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย - ตุรกี (Joint Committee on Economic and Technical Cooperation: JETC) ครั้งที่ ๔ ระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๖ มกราคม ๒๕๖๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ม.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 ม.ค. 2566

| 19,220 view

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดจะเดินทางเยือนสาธารณรัฐตุรกี เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และวิชาการไทย - ตุรกี (Joint Committee on Economic and Technical Cooperation: JETC) ครั้งที่ ๔ ในฐานะประธานร่วมฝ่ายไทย ระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๖ มกราคม ๒๕๖๖ ณ กรุงอังการา สาธารณรัฐตุรกี โดยมี นายมุสตาฟา วารังก์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสาธารณรัฐตุรกี เป็นประธานร่วมฝ่าย ตุรกี

การจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งที่ ๔ เป็นการรื้อฟื้นกลไกการประชุมทวิภาคีด้านเศรษฐกิจ และวิชาการระดับสูงระหว่างไทยและตุรกีในรอบ ๒๐ ปีหลังจากที่ฝ่ายไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งที่ ๓ เมื่อปี ๒๕๔๖ ที่กรุงเทพมหานคร และนับเป็นโอกาสอันดีในการเฉลิมฉลองการ ครบรอบ ๖๕ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - ตุรกี และการครบรอบ ๑๐๐ ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐตุรกี ในปี ๒๕๖๖

การประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการระหว่างไทยและตุรกี โดยเฉพาะการเร่งรัดการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย- ตุรกีให้แล้วเสร็จ รวมถึงการขยายความร่วมมือสาขาต่าง ๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน อาทิ การลงทุนระหว่างกันใน อุตสาหกรรมเป้าหมาย พลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า การเกษตร ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

ในโอกาสเดียวกันนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมคณะผู้แทน จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มีกำหนดการเข้าพบหารือกับบุคคลสำคัญของตุรกีด้วย อาทิ นายเมฟเลิต ชาวูโชลู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตุรกี รวมถึงการเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กับกรมความร่วมมือและประสานงานของตุรกี (TİKA)  เพื่อขยายบทบาทความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของทั้งสองประเทศ