ไทยเป็นเจ้าภาพการเจรจากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๖ กันยายน ๒๕๖๖

ไทยเป็นเจ้าภาพการเจรจากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๖ กันยายน ๒๕๖๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ส.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 ส.ค. 2566

| 8,976 view

ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๖ กันยายน ๒๕๖๖ ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพมหานคร

ในการเจรจาครั้งนี้ ประเทศหุ้นส่วน IPEF จะร่วมกันสร้างความคืบหน้าต่อเนื่องจากการเจรจาที่นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๖ และการประชุมหารือเพิ่มเติมในห้วงที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศหุ้นส่วน IPEF ได้มีการสรุปผลสาระสำคัญของการเจรจาร่างเอกสารความร่วมมือภายใต้เสาความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF ที่เมืองดีทรอยต์ สหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๖ นั้น การเจรจา IPEF รอบกรุงเทพฯ ครั้งนี้จะสานต่อการเจรจาจัดทำร่างเอกสารความร่วมมือภายใต้เสาความร่วมมือที่ ๑ (การค้า) ๓ (เศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) และ ๔ (เศรษฐกิจที่เป็นธรรม) ควบคู่ไปกับการหารือเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินโครงการความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค การส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน และการยกระดับมาตรฐานและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศหุ้นส่วน นอกจากนี้ จะมีการจัดการหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders’ Listening Session) เพื่อเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและความคาดหวังที่มีต่อความร่วมมือภายใต้ IPEF ด้วย

IPEF เป็นกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ริเริ่มโดยสหรัฐฯ ซึ่งได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ IPEF ประกอบด้วย ๔ เสาความร่วมมือ ได้แก่ ด้านการค้า ห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจที่เป็นธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนกับประเทศหุ้นส่วนในภูมิภาค รวมถึงการสนับสนุนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันและการเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับประเด็นท้าทายรูปแบบใหม่ต่าง ๆ

ปัจจุบัน IPEF ประกอบด้วยประเทศหุ้นส่วน ๑๔ ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม มีมูลค่า GDP รวมกันประมาณร้อยละ ๔๐ ของ GDP โลก และครอบคลุมประมาณร้อยละ ๖๐ ของประชากรโลก