วันที่นำเข้าข้อมูล 26 มิ.ย. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 มิ.ย. 2566
เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๖ นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานในกรอบความร่วมมือความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ครั้งที่ ๒/๒๕๖๖ ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อติดตามพัฒนาการการเจรจาและความร่วมมือในกรอบ IPEF ซึ่งได้มีการเชิญผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน ๓ สถาบัน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เข้าร่วมการประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนผลประโยชน์ของไทยใน IPEF โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า ๑๖๐ คน
ที่ประชุมฯ ได้รับทราบพัฒนาการของการเจรจาร่างข้อบทและการดำเนินความร่วมมือ IPEF ในห้วงที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมทั้ง ๔ เสาความร่วมมือ ได้แก่ เสาการค้า (Trade) เสาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เสาเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Clean Economy) และเสาเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Fair Economy) รวมถึงผลการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF ณ เมืองดีทรอยต์ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๖ และแผนการดำเนินการในระยะต่อไป
ที่ประชุมฯ ยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองและให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์สำหรับคณะผู้เจรจาในการกำหนดท่าทีสำหรับแนวทางขับเคลื่อนการเจรจาและความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม (tangible benefits) เพื่อผลประโยชน์สูงสุดกับทุกภาคส่วนของไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และยั่งยืน โดยเฉพาะการขยายโอกาสด้านการค้าให้แก่ผู้ประกอบการไทย ดึงดูดการลงทุนที่มีคุณภาพ ยกระดับการพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ตลอดจนเตรียมการให้ภาครัฐและภาคเอกชนพร้อมรับมือกับประเด็นท้าทายรูปแบบใหม่ ๆ ภายใต้ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ภาคเอกชนและภาควิชาการยังได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินโครงการความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ที่ไทยอาจพิจารณาผลักดันในกรอบความร่วมมือนี้ด้วย
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **