การฝึกอบรมหลักสูตร “การรายงานข่าวเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐาน” สำหรับสื่อมวลชน ต่อต้านข่าวบิดเบือน และการนำเสนอผู้โยกย้ายถิ่นฐานในเชิงลบ

การฝึกอบรมหลักสูตร “การรายงานข่าวเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐาน” สำหรับสื่อมวลชน ต่อต้านข่าวบิดเบือน และการนำเสนอผู้โยกย้ายถิ่นฐานในเชิงลบ

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 7 ก.ย. 2565

| 10,925 view

เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๕ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประจำประเทศไทย จัดการฝึกอบรมหลักสูตร “การรายงานข่าวเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐาน” สำหรับสื่อมวลชน เป็นครั้งแรก ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และสร้างความเป็นมืออาชีพในการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายถิ่นฐาน รวมทั้งเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับข้อมูลภูมิหลังเรื่องสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานทั้งในภูมิภาคและไทย นโยบายของภาครัฐ และกรอบสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างบทบาทของสื่อในการต่อต้านข่าวบิดเบือน และการนำเสนอผู้โยกย้ายถิ่นฐานในเชิงลบ โดยมีผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมกว่า ๒๐ คน จากสำนักข่าวไทยและต่างประเทศ และนักศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดการฝึกอบรม โดยเน้นย้ำถึงบทบาทของไทยในฐานะ Champion Country ภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (GCM) รวมถึงเป้าหมายข้อ ๑๗ ในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐานในทุกรูปแบบ และส่งเสริมบทสนทนาในสังคมเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานที่ถูกต้อง บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง นางสาว Géraldine Ansart หัวหน้า IOM ประเทศไทย ให้ความสำคัญกับบทบาทของสื่อในการส่งเสริมบทสนทนาเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง และกล่าวถึงบทบาทของ IOM ในการเสริมสร้างการรายงานข่าวเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐาน ด้วยการเปิดตัวศูนย์เรียนรู้ Global Migration Media Academy เมื่อปี ๒๕๖๔ และการเผยแพร่คู่มือเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานให้กับผู้สื่อข่าว

ในช่วงแรก นาย Miko Alazas เจ้าหน้าที่สื่อและการสื่อสาร IOM ประเทศไทย และนาย Itayi Viriri เจ้าหน้าที่สื่อและการสื่อสารภูมิภาคอาวุโส IOM และโฆษกสำนักงาน IOM ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวถึงพันธกิจของ IOM ในการส่งเสริมการโยกย้ายถิ่นฐานแบบปกติ หรือแบบถูกต้องตามกฎหมาย การลดการโยกย้ายถิ่นฐานแบบถูกบังคับ และการปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน โดยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานที่ไม่ใช่รัฐที่ทำงานร่วมกับ IOM และสื่อมวลชน ส่วนนายพืชภพ มงคลนาวิน รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงภาพรวมบทบาทของหน่วยงานต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับผู้โยกย้ายถิ่นฐาน และสถานการณ์ในประเทศไทย ก่อนจบด้วยบทบาทสำคัญของสื่อมวลชนในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับบทบาทสำคัญของผู้โยกย้ายถิ่นฐานต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศผู้รับ และสิทธิของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน

ในช่วงที่สอง เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการโดยมีวิทยากร คือ นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการ The Matter และนางสาวนันท์ชนก วงษ์สมุทร์ ผู้สื่อข่าวอิสระ อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองต่อประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐาน วิธีการรายงานข่าวเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ การตรวจสอบข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แนวทางการสัมภาษณ์ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน และทิศทางการรายงานข่าวเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานในอนาคต รวมทั้งการนำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ในการรายงานข่าวจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ