วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ก.ย. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 ก.ย. 2567
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 นางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติ กรุงเวียนนา ในฐานะประธานการประชุมใหญ่สมัยสามัญ สมัยที่ 67 ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) ได้กล่าวเปิดการประชุมใหญ่สมัยสามัญ สมัยที่ 68 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 20 กันยายน 2567 และได้ส่งมอบตำแหน่งประธานการประชุมฯ สมัยที่ 68 แก่นาย Sang Wook Ham เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสาธารณรัฐเกาหลีประจำสำนักงานสหประชาชาติ กรุงเวียนนา ในวันเดียวกันนี้ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยฯ ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทยโดยย้ำเจตนารมณ์การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับ IAEA ในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติ ตลอดจนความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิก IAEA ในการเสริมสร้างความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัย และการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ที่ประชุมใหญ่สมัยสามัญ สมัยที่ 68 ได้เห็นชอบแต่งตั้งไทยเป็นสมาชิกคณะกรรมการผู้ว่าการ (Board of Governors) วาระปี ค.ศ. 2024 - 2026 ในฐานะผู้แทนจากกลุ่ม Southeast Asia and the Pacific (SEAP) ซึ่งเป็นโอกาสให้ไทยร่วมกำหนดทิศทางของ IAEA ในประเด็นเชิงนโยบาย การบริหารจัดการงบประมาณ การดำเนินงานด้านเทคนิค ตลอดจนประเด็นระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างแข็งขัน รวมถึงเป็นเวทีสนับสนุนและผลักดันประเด็นที่เป็นประโยชน์ของไทย เช่น การวางแผน พัฒนาศักยภาพ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคนิคของการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 67 ในห้วงการประชุมใหญ่สมัยสามัญ สมัยที่ 68 ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ลงนามข้อตกลง ร่วมกับนาย Rafael Mariano Grossi ผู้อำนวยการใหญ่ IAEA ในโอกาสที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการแต่งตั้งเป็น IAEA Collaborating Centre – Anchor Centre ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Rays of Hope และเป็นข้อริเริ่มของผู้อำนวยการใหญ่ IAEA โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือรัฐสมาชิก IAEA ในการสร้างและเพิ่มพูนศักยภาพด้านการรักษาโรคมะเร็ง และเป็นกลไกในการให้ความช่วยเหลือหลัก ทำหน้าที่เป็นศูนย์ฝึกอบรมให้แก่ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข สร้างเครือข่ายระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์กับ Anchor Centre อื่น ๆ รวมถึงการเข้าร่วมใน IAEA Coordinated Project ทั้งนี้ Anchor Centre ในไทยนับเป็นแห่งที่ 10 ของโลก แห่งที่ 4 ของเอเชีย และเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
IAEA เป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีอาณัติในการสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติอย่างปลอดภัยและมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งสร้างและบริหารจัดการด้านการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศระหว่างประเทศ รวมทั้งเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยการประชุมใหญ่สมัยสามัญ เป็นกลไกที่สำคัญที่สุดภายใต้ IAEA ประกอบด้วยผู้แทนจากรัฐสมาชิก IAEA ทั้งหมด จัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี มีหน้าที่ในการพิจารณาและเห็นชอบงบประมาณประจำปีของ IAEA และตัดสินประเด็นสำคัญอื่น ๆ ซึ่งเสนอโดย Board of Governors ผู้อำนวยการใหญ่ IAEA และรัฐสมาชิก
ไทยเป็นสมาชิกก่อตั้งของ IAEA ตั้งแต่ปี 2500 และมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติมาโดยตลอด รวมทั้งในสาขาการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรม และความมั่นคงทางอาหาร ไทยมีบทบาทที่สร้างสรรค์ภายใต้กรอบ IAEA มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ IAEA ในข้อริเริ่มต่าง ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ
(ภาพประกอบจาก Dean Calma/IAEA และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี)
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **