รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนำเสนอศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและธุรกิจ MSMEs ของไทย และผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio, Circular, Green – BCG Economy) และความเชื่อมโยง ในการประชุมระดับสูงภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยความร่วมมือสายแถบและเส้นทาง

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนำเสนอศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและธุรกิจ MSMEs ของไทย และผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio, Circular, Green – BCG Economy) และความเชื่อมโยง ในการประชุมระดับสูงภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยความร่วมมือสายแถบและเส้นทาง

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 มิ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 12,960 view

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยความร่วมมือสายแถบและเส้นทาง โดยเน้นย้ำความจำเป็นที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและการแบ่งแยกเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ พร้อมทั้งนำเสนอศักยภาพของไทยด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและธุรกิจ MSMEs และผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio, Circular, Green – BCG Economy) และความเชื่อมโยงระหว่างข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative - BRI) กับระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ

​เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยความร่วมมือสายแถบและเส้นทาง (Asia Pacific High Level Conference on Belt and Road Cooperation) ซึ่งจีนจัดขึ้น ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมความร่วมมือในการต่อสู้กับโรคระบาดเพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน” (Promoting Cooperation on Combating the Pandemic for Sustainable Recovery) พร้อมด้วยผู้แทนระดับสูงจากประเทศหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) ๒๙ ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ BRI ๖ องค์กร

ที่ประชุมเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับวัคซีนโควิด-๑๙ อย่างทั่วถึงและเร่งด่วน โดยเร่งการวิจัยและพัฒนา และการผลิตวัคซีน ตลอดจนการหารือเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าเพื่ออำนวย
ความสะดวกในการกระจายวัคซีน และได้เห็นพ้องว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในยุคหลังโควิด-๑๙ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่ประชุมได้รับรองเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม ๒ ฉบับ ได้แก่ (๑) ข้อริเริ่มเรื่องความเป็นหุ้นส่วนสายแถบและเส้นทางว่าด้วยความร่วมมือด้านวัคซีนโควิด-๑๙ และ (๒) ข้อริเริ่มเรื่องความเป็นหุ้นส่วนสายแถบและเส้นทางว่าด้วยการพัฒนาสีเขียว

​รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและแนวคิดการแบ่งแยก อันจะเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และนำเสนอศักยภาพของไทยที่จะร่วมมือกับหุ้นส่วน BRI ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐานสูง และการส่งเสริมการประกอบธุรกิจของ MSMEs และผลักดันความเชื่อมโยงระหว่างระเบียงเศรษฐกิจของ BRI กับระเบียงเศรษฐกิจอื่น ๆ ตลอดจนขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio, Circular, Green – BCG economy) โดยได้สนับสนุนให้ BRI ร่วมมือกับกรอบความร่วมมือและยุทธศาสตร์อื่น ๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกรอบ APEC ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเอเปคในปี ๒๕๖๕ รวมทั้งกรอบ BIMSTEC ซึ่งไทยจะรับตำแหน่งประธานในปีเดียวกัน

จีนได้ริเริ่มยุทธศาสตร์ BRI เมื่อปี ๒๕๕๖ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชีย ยุโรป แอฟริกา ตลอดจนหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกผ่านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโครงการลงทุนขนาดใหญ่และการสร้างเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับประเทศที่มีศักยภาพ ปัจจุบันมีประเทศกว่า ๑๔๐ ประเทศ (รวมทั้งไทย) เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ