รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อความยั่งยืนในอาเซียน

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อความยั่งยืนในอาเซียน

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 31 พ.ค. 2565

| 4,589 view

เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนาง Armida Salsiah Alisjahbana รองเลขาธิการสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารเอสแคป ได้เป็นประธานร่วมในการประชุม High-Level Brainstorming Dialogue on Enhancing Complementarities between the ASEAN Community Vision 2025 and the UN 2030 Agenda for Sustainable Development (HLBD) ครั้งที่ ๖ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และผ่านระบบการประชุมทางไกล

การประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการขับเคลื่อน “ข้อริเริ่มความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ” (Complementarities Initiative)

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เสนอแนวคิดในการขับเคลื่อน Complementarities Initiative ได้แก่ (๑) การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดี ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอก (๒) การส่งเสริมให้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นหนึ่งในประเด็นหลักในความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอก เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นเชิงยุทธศาสตร์และส่งเสริมการดำเนินการตามมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (๓) การเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชน ผ่านการจัดกิจกรรมให้เยาวชนอาเซียนได้เรียนรู้ นำเสนอแนวคิด และแสดงศักยภาพในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ BCG เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และ (๔) การเสริมสร้างบรรยากาศแห่งสันติ ลดการเผชิญหน้า และกระชับความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ซึ่งจะเอื้อต่อการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ส่งเสริมสันติภาพ ตลอดจนความมั่งคั่ง และยั่งยืนของโลก ในช่วงการหารือ ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าและหารือแนวทางการขับเคลื่อน Complementarities Initiative ตามสาขาความร่วมมือที่ระบุใน Complementarities Roadmap (ค.ศ. ๒๐๒๐ - ๒๐๒๕) ทั้ง ๕ สาขา ได้แก่ การขจัดความยากจน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยง การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน การเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ย้ำว่า แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและความร่วมมือภายใต้ Complementarities Initiative สามารถสนับสนุนการฟื้นฟูหลังโควิด-๑๙ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของภูมิภาคต่อความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคตได้

การประชุม HLBD จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ โดยมีไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน และเอสแคป เป็นเจ้าภาพร่วม โดยผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่สำคัญของ HLBD ได้แก่ การจัดทำ Complementarities Roadmap และการจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีบทบาทในการประสานการดำเนินการตาม Roadmap ดังกล่าว ทั้งนี้ การประชุม HLBD ครั้งที่ ๖ มีผู้เข้าร่วม ได้แก่ ดาโต๊ะ ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน และผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกอาเซียน หน่วยงานสหประชาชาติ ตลอดจนภาคีภายนอกของอาเซียน อาทิ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สหภาพยุโรป นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย มูลนิธิเอเชีย และมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ