ถ้อยแถลงโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุมสุดยอดว่าด้วยการยุติการแพร่ระบาดของโควิด ๑๙ และการฟื้นตัว (Global COVID-19 Summit: Ending the Pandemic and Building Back Better) ในรูปแบบการประชุมทางไกล

ถ้อยแถลงโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุมสุดยอดว่าด้วยการยุติการแพร่ระบาดของโควิด ๑๙ และการฟื้นตัว (Global COVID-19 Summit: Ending the Pandemic and Building Back Better) ในรูปแบบการประชุมทางไกล

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ก.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 20,926 view

ถ้อยแถลงโดย
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ในการประชุมสุดยอดว่าด้วยการยุติการแพร่ระบาดของโควิด ๑๙ และการฟื้นตัว
(Global COVID-19 Summit: Ending the Pandemic and Building Back Better)
ในรูปแบบการประชุมทางไกล ในวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๒๒.๐๐ น.

ท่านประธานาธิบดีไบเดน
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน


ผมรู้สึกยินดีที่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยเชื่อมั่นในความร่วมมือพหุภาคีเพื่อยุติการแพร่ระบาดของโควิด ๑๙ และเตรียมพร้อมสำหรับภัยคุกคามทางสุขภาพโลกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น ในนามของรัฐบาลไทย ผมขอร่วมแสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามเป้าหมาย ดังนี้

เป้าหมายแรก รัฐบาลไทยกำหนดให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ และให้คำมั่นที่จะฉีดวัคซีนโควิด ๑๙ ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ ๗๐ ของประชากรภายในปีนี้ โดยครอบคลุมทุกคน ไม่ว่าจะมีสัญชาติหรือสถานะอย่างไร นอกจากนี้ รัฐบาลได้ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตวัคซีนโควิด-๑๙ ภายในประเทศ และพร้อมร่วมมือกับนานาประเทศในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนในภูมิภาคและส่งเสริมความมั่นคงทางสุขภาพโลก

เป้าหมายที่สอง ประเทศไทยสนับสนุนเป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตเวชภัณฑ์และวัสดุทางการแพทย์ เพื่อให้บุคลากรการแพทย์และด่านหน้า รวมถึงประชาชน มีเกราะป้องกันและมีความปลอดภัย สามารถกลับมาดำเนินชีวิตใกล้เคียงความปกติได้ในไม่ช้า ที่ผ่านมา ไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย ชุด PPE ชุดตรวจโควิด ๑๙ และเครื่องผลิตออกซิเจน แก่กว่า ๑๐ ประเทศ ที่เผชิญการแพร่ระบาดของ โควิด ๑๙ อย่างรุนแรง ตลอดจนมีความร่วมมือเพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางด้านสาธารณสุขกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเพิ่มมากขึ้นต่อไป ประเทศไทยขอขอบคุณสหรัฐอเมริกาและมิตรประเทศทั้งหลายที่ได้ให้ความช่วยเหลือเราอย่างประเมินค่ามิได้ตลอดมา

เป้าหมายสุดท้าย ในหลักการไทยเห็นด้วยที่ต้องสร้างความเข้มแข็งในการเตรียมความพร้อมและการตอบสนองต่อโรคระบาดในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับสากล รวมทั้งสนับสนุนกระบวนการของ WHO (ดับเบิ้ลยูเอชโอ) ที่กำลังจัดทำตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยโรคระบาด โดยขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ระหว่างแก้ไขพระราชบัญญัติโรคติดต่อให้สอดคล้องกับกฎอนามัยระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดในอนาคต

ขอบคุณและสวัสดีครับ