คำกล่าวปาฐกถาพิเศษของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในหัวข้อ “จุดยืนประเทศไทย ในสมรภูมิโลกขัดแย้ง” ในงานเสวนา “GEOPOLITICS 2024 จุดปะทุสงครามใหญ่ พลิกวิกฤติโลกเดือด สู่โอกาส” โดยกรุงเทพธุรกิจ

คำกล่าวปาฐกถาพิเศษของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในหัวข้อ “จุดยืนประเทศไทย ในสมรภูมิโลกขัดแย้ง” ในงานเสวนา “GEOPOLITICS 2024 จุดปะทุสงครามใหญ่ พลิกวิกฤติโลกเดือด สู่โอกาส” โดยกรุงเทพธุรกิจ

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ม.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 ก.พ. 2567

| 15,073 view

คำกล่าวปาฐกถาพิเศษ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ในหัวข้อ “จุดยืนประเทศไทย ในสมรภูมิโลกขัดแย้ง”

ในงานเสวนา “GEOPOLITICS 2024 จุดปะทุสงครามใหญ่ พลิกวิกฤติโลกเดือด สู่โอกาส” โดยกรุงเทพธุรกิจ

วันพุธที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๖.๓๐ น.

ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ

 

ท่านอดีตรัฐมนตรี เอกอัครราชทูตจากหลายประเทศ แขกผู้มีเกียรติ ท่านผู้บริหารของกรุงเทพธุรกิจ
ผู้ร่วมเสวนา เพื่อนสื่อมวลชนทุกท่าน

 

  1. ผมขอขอบคุณกรุงเทพธุรกิจที่ได้เชิญมาพบกับท่านทั้งหลายอีกครั้ง หลังจากที่ได้พูดคุยในเวทีกรุงเทพธุรกิจเรื่องการทูตเศรษฐกิจ ในช่วงแรกที่รัฐบาลเริ่มปฏิบัติหน้าที่

 

  1. ครั้งที่แล้ว ผมได้พูดถึงบริบทโลกที่แบ่งแยกเป็นหลายขั้ว ทั้งด้าน geo-politics ด้าน geo-economics และด้าน geo-technology มาในวันนี้ ความแตกแยกของโลกยังคงเป็นไปในทิศทางที่น่าเป็นห่วงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลโดยตรงต่อทิศทางความมั่นคงและเศรษฐกิจโลก

 

  1. ภายใต้หัวข้อของการปาฐกถาในวันนี้ ผมจึงขออนุญาตกล่าวถึงประเด็นหลัก 3 ประการ ได้แก่ (1) ความท้าทายที่เกิดขึ้นจาก Geopolitics (2) การปรับตัวและโอกาสของประเทศไทย และ (3) ทิศทางการทูตของไทยในภาวะโลกที่ผันผวนและเต็มไปด้วยความท้าทาย

 

  1. ในส่วนของความท้าทายที่เกิดขึ้นจาก Geopolitics เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้เข้าร่วมการประชุมประจำปี World Economic Forum ภายใต้หัวข้อหลัก คือ “Rebuilding Trust” ซึ่งการกำหนดหัวข้อนี้สะท้อนอย่างชัดเจนว่า โลกในปัจจุบันประสบปัญหาของการขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ หรือที่เรียกกันว่า trust deficit อย่างมาก สถานการณ์โลกยังคงมีความเปราะบางและคาดเดาได้ยาก ภาวะความผันผวนและแตกแยกของโลกในทุกมิติจะยังคงอยู่และอาจจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

 

  1. เราได้เห็นเหตุการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธในหลายจุดเปราะบางทั่วโลก ซึ่งไม่เป็นที่คาดการณ์มาก่อนและไม่สามารถคลี่คลายได้โดยเร็ววัน เช่น สถานการณ์การสู้รบในยูเครนที่ได้ดำเนินมาเกือบ ๒ ปีและยังมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อต่อไป และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสซึ่งขยายวงไปสู่การโจมตีเรือพาณิชย์โดยกลุ่มฮูที (Houthi) ในทะเลแดง ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการเดินเรือและการค้าระหว่างประเทศ

 

  1. การเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิรัฐศาสตร์นี้ ที่เป็นผลมาจากการแข่งขันของมหาอำนาจ ยังคงเป็นฉากทัศน์สำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก ซึ่งความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

  1. แต่อย่างน้อยเป็นที่น่ายินดีที่ความสัมพันธ์ของจีนและสหรัฐฯ มีพัฒนาการในเชิงบวกมากขึ้น โดยการหารือระหว่างประธานาธิบดีไบเดนและประธานาธิบดีสีเมื่อปลายปีที่แล้วที่นครซานฟรานซิสโก ช่วยผ่อนคลายบรรยากาศความตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจ และล่าสุด ไทยก็ยินดีที่ได้เป็นสถานที่สำหรับการพบปะหารือระหว่างนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน กับนายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาที่กรุงเทพฯ ซึ่งตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามทั้งสองประเทศที่จะพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องเพื่อบริหารจัดการความสัมพันธ์ให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

 

  1. ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายยังจับตามองการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งหากอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง ก็คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงทิศทางความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจ และต่อโลกในวงกว้างในทุกมิติอีกครั้งอย่างแน่นอน

 

  1. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังเป็นที่คาดการณ์ได้ยาก เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปัจจัยต่าง ๆ ทางภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายของมหาอำนาจ สถานการณ์ในจุดเปราะบาง การแข่งขันทางภูมิเทคโนโลยี การชะลอตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น จีนและยุโรป ซึ่งหมายความว่าการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจจะเป็นไปได้ยากเย็นและซับซ้อนกว่าเดิม

 

  1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับเศรษฐกิจโลกและไทย ปีที่ผ่านมาได้ถูกจารึกว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราความเร็วที่น่าตกใจ และโลกได้เผชิญกับภัยพิบัติรุนแรงทุกรูปแบบ ตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วม ไฟป่า จนถึงความแห้งแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ ซึ่งยังคงเป็นปัญหาท้าทายกับโลกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะกับประเทศที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 

  1. ปัจจัยเสี่ยงสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดถึงในวันนี้ คือ ความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะ Generative AI ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่พูดถึงกันมากในที่ประชุมที่ดาวอส ทั้งในแง่โอกาส AI สามารถเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีความเสี่ยงหลายอย่างตามมา โดยเฉพาะผลกระทบต่อการจ้างงานที่ AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ในหลายด้าน รวมถึงด้านการเมือง เช่น การใช้ AI แทรกแซงการเลือกตั้ง และการเผยแพร่ข่าวที่ไม่เป็นจริงหรือข่าวปลอม

 

  1. ดังนั้น ธรรมาภิบาลกำกับดูแล AI จึงสำคัญมาก และไทยต้องมีความพร้อมในด้านการกำกับดูแล อย่างที่หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน สิงคโปร์ และ EU รวมถึงบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว

 

  1. สำหรับประเด็นที่ 2 ที่จะกล่าวถึง คือ การปรับตัวและโอกาสของประเทศไทย โจทย์สำคัญสำหรับประเทศไทยในวันนี้คือ ประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์โลกและความท้าทายเช่นนี้ เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุด

 

  1. ท่านผู้มีเกียรติครับ ประเทศไทยไม่มีเวลาแล้วครับ เราติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางมานาน ขณะที่เพื่อนบ้านของเราได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ปีที่แล้ว GDP ของไทยโตในระดับต่ำ เราจึงไม่สามารถพึ่งพาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเดิม ๆ ได้เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องพลิกฟื้นและปฏิรูป หรือ revitalize and reform การต่างประเทศและเศรษฐกิจไทยให้สามารถคว้าโอกาสจากบริบททางภูมิรัฐศาสตร์ได้อย่างทันท่วงที

 

  1. ต้องถือว่าไทยและภูมิภาคยังมีโอกาสในวิกฤตอยู่ โดยโลกกำลังมองว่าอาเซียนมีศักยภาพ ทั้งในแง่ปัจจัยทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเราควรมองให้ยาวและคว้าโอกาสนี้ เพื่อดึงดูดการย้ายฐานการผลิตและ supply-chain มายังไทยและประเทศในภูมิภาคให้ได้ จึงจะสามารถต่อยอดยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางและพร้อมรับความท้าทายที่จะมีอีกในอนาคตได้

 

  1. เพื่อตอบโจทย์สำคัญนี้ การดำเนินนโยบายต่างประเทศมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ท่านนายกรัฐมนตรีได้พูดถึง การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ และในช่วง ๕ เดือนที่ผ่านมา ท่านนายกฯ ได้พบปะกับบริษัทเอกชนต่าง ๆ เช่น บิ๊กเทคและกองทุนแล้วกว่า ๑๐๐ บริษัท เพื่อชักชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

 

  1. รัฐบาลกำลังเร่งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและความน่าดึงดูดในการลงทุน โดยขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจ ส่งเสริมความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค ผ่านการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ และเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะในภาคพลังงาน ควบคู่กันไป

 

  1. รัฐบาลมุ่งเร่งรัดการเจรจา FTA ที่มีมาตรฐานสูง เช่น FTA ไทยกับสหภาพยุโรป และเดินหน้าขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก OECD เพื่อยกระดับมาตรฐานเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้ไทยสามารถคว้าโอกาสทางเศรษฐกิจไว้ได้

 

  1. นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการตรวจลงตรา ทั้งการให้วีซ่าฟรีกับกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพสูงและกลุ่มอาชีพเป้าหมาย เช่น นักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง และ Digital Nomad และในระยะยาว เรามุ่งเน้นการเจรจาความตกลงเพื่อยกเว้นการตรวจลงตรากับประเทศต่าง ๆ ดังเช่น ล่าสุด ไทยกับจีนได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการยกเว้นวีซ่าซึ่งกันและกัน ซึ่งนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจและนักท่องเที่ยวแล้ว ยังช่วยเพิ่มอำนาจหนังสือเดินทางและเพิ่มศักดิ์ศรีให้กับคนไทยด้วย

 

  1. ท่านผู้มีเกียรติครับ ประเด็นสุดท้ายที่ผมขอกล่าวถึง คือ ทิศทางการทูตของไทย การที่ไทยจะคว้าโอกาสในภาวะโลกที่ผันผวนและเต็มไปด้วยความท้าทายได้นั้น จะต้องดำเนินการผ่านการทูตเชิงรุก ซึ่งเป็น “การทูตที่มีน้ำหนัก” เพื่อสร้างความโดดเด่น ชัดเจน และน่าสนใจ เสริมสร้างให้ประเทศไทยมีเกียรติภูมิและมีความหมาย ให้ไทยกลับสู่จอเรดาร์ของโลก เพื่อเป็นรากฐานในการต่อยอดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้

 

  1. เริ่มจากความชัดเจนในการวางจุดยืนของประเทศ ซึ่งก็คือ การรักษาความเป็นมิตรและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกขั้วและประเทศ เป็นไปอย่างสมดุล และหลีกเลี่ยงการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง เพื่อให้ไทยเป็นพื้นที่ที่ทุกฝ่ายสบายใจที่จะเข้ามาลงทุนและมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ซึ่งการที่จีนและสหรัฐฯ เลือกไทยเป็นสถานที่พบปะในระดับสูงครั้งล่าสุด นับเป็นหนึ่งในตัวชี้ความสำเร็จในการแสดงจุดยืนความเป็นกลางที่สำคัญอย่างยิ่งของไทย

 

  1. นอกจากความพยายามไม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งของมหาอำนาจแล้ว ไทยยังต้องร่วมมือกับประเทศในอนุภูมิภาคและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรักษาให้ภูมิภาคนี้เป็นพื้นที่ที่สงบและปลอดภัยจากความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจด้วย เพราะเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

  1. นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมรัฐบาลนี้จึงให้ความสำคัญกับการมีบทบาทเชิงรุกในการเสริมสร้างเอกภาพและความเป็นแกนกลางของอาเซียนในการรับมือกับปัจจัยภายนอก ผ่านกลไกต่าง ๆ ของอาเซียน รวมทั้งให้ความสำคัญกับเอกสาร “มุมมองอาเซียนต่ออินโด - แปซิฟิก” หรือ AOIP ในการปฏิสัมพันธ์กับหุ้นส่วนภายนอก และสนับสนุนให้อาเซียนมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

 

  1. ในเรื่องเมียนมา ในฐานะที่เป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกับเมียนมากว่า ๒,๔๐๐ กิโลเมตร ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในเมียนมาย่อมส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรง ตลอดจนความมั่นคงและเศรษฐกิจของภูมิภาคด้วย

 

  1. ดังนั้น ไทยพร้อมจะสนับสนุนเมียนมาในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองโดยสันติวิธี เพื่อให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืน โดยจะร่วมมือกับอาเซียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ เรื่องที่ไทยให้ความสำคัญสูงสุดในลำดับต้น คือ การผลักดันการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับประชาชนเมียนมา อย่างไม่เลือกปฏิบัติ

 

  1. ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่หลวงพระบางเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายสนับสนุนบทบาทของไทยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเห็นว่าข้อริเริ่มของไทยนี้เป็นก้าวสำคัญภายใต้ฉันทามติ ๕ ข้อหรือ Five-Point Consensus ของอาเซียน และจะเปิดโอกาสให้เมียนมากลับมามีปฏิสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์กับอาเซียนและประชาคมโลกอีกครั้ง รวมทั้งอาจนำไปสู่การเริ่มต้นกระบวนการหารือภายในระหว่างรัฐบาลทหารกับฝ่ายต่าง ๆ ในเมียนมา

 

  1. แม้ว่าข้อริเริ่มนี้เป็นความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับเมียนมา เราก็ได้เสนอให้ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ หรือที่เรียกว่า AHA Centre เข้ามามีบทบาท เพื่อให้การส่งมอบความช่วยเหลือเป็นไปอย่างทั่วถึงและโปร่งใส ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้อาเซียนกลับมามีบทบาทนำในการช่วยแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในเมียนมา และช่วยให้เมียนมากลับมาเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์ของอาเซียนต่อไป

 

  1. นอกจากการมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ไทยยังได้พยายามขับเคลื่อนการพัฒนาความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อในภูมิภาค ทั้งด้านกายภาพ กฎระเบียบ และดิจิทัล โดยผ่านกรอบอาเซียน และกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ACMECS, BIMSTEC, ACD เพื่อสร้างเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ รวมถึงสร้างน้ำหนักให้กับการทูตไทย

 

  1. ในเวทีโลก เราต้องมีความสม่ำเสมอในการแสดงจุดยืนที่ตั้งอยู่บนหลักการสากล กฎหมายระหว่างประเทศ และผลประโยชน์ของประเทศ เช่น การเคารพหลักการอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธี และมีส่วนร่วมในประเด็นที่เป็นค่านิยมและมาตรฐานสากล โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การเข้าร่วมผลักดันการเจรจาสนธิสัญญาโรคระบาด และอนุสัญญาว่าด้วยอาชญากรรมไซเบอร์ รวมทั้งการที่ไทยได้ประกาศลงสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Human Rights Council วาระปี ๒๕๖๘ - ๒๕๗๐ ทั้งนี้ เพื่อสร้าง visibility และความน่าเชื่อถือในเวทีระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งยกระดับมาตรฐานของประเทศ ตลอดจนปูทางไปสู่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านต่าง ๆ ของประเทศต่อไป

 

  1. ท่านผู้มีเกียรติครับ ปี ๒๕๖๗ โลกจะยังคงเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ความผันผวน และความท้าทาย แต่ภายใต้บริบทนั้นยังเต็มไปด้วยโอกาสที่เราสามารถตักตวงได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราจะดำเนินนโยบายของเราไปในทิศทางใด และถูกจังหวะเวลาหรือไม่ ที่ผ่านมาเราเสียเวลาและโอกาสไปมากแล้ว

 

  1. วันนี้ การต่างประเทศไทยจึงต้องมีน้ำหนัก มีการสอดประสานและความชัดเจนจากภายในประเทศ ขณะเดียวกัน ต้องมีความคล่องตัว เชิงรุก และมองไปข้างหน้า และที่สำคัญคือ จะต้องสามารถคว้าโอกาสทางเศรษฐกิจจากบริบทโลกที่ผันผวนได้อย่างเต็มที่ เพื่อความกินดีอยู่ดีและฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยอย่างยั่งยืน

 

  1. กระทรวงการต่างประเทศพร้อมรับฟังและทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อช่วยกันเดินหน้ารับมือกับความท้าทายและความผันผวนต่าง ๆ รวมทั้งปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนคนไทย ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เราจะจับมือร่วมกันพลิกฟื้นความเจริญรุ่งเรืองกลับมาสู่ประเทศไทย และนำประเทศไทยกลับสู่จอเรดาร์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประชาคมโลกอย่างเต็มภาคภูมิอีกครั้งหนึ่งครับ

 

  1. ขอกราบขอบพระคุณครับ

******************